ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารทหารไทย-ธนาคารธนชาตแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำเอ็มโอยู "เจรจารวมกิจการ" เสริมแกร่งธุรกิจแบงก์ขึ้นแท่นเบอร์ 6 อุตสาหกรรมแบงก์ไทย ดันสินทรัพย์รวม 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน มูลค่าธุรกรรม 1.3-1.4 แสนล้านบาท คาดกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในปีนีิ้ หลังจากนั้นเปลี่ยนชื่อทันที ฟาก ปลัดคลังยืนยันคลังยังถือหุ้นใหญ่เบอร์ 1

เมื่อเวลา 17.16 น. วันที่ 26 ก.พ.บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารทหารไทย หรือ TMB แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับ ING Group N.V. ธนาคารธนชาต, บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารโนวา สโคเทีย เกี่ยวกับการวมธุรกิจระหว่างธนาคารทหารไทยกับธนาคารธนชาต โดยมีรายละเอียด "บันทึ��ข้อตกลงฯ" กำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันต่อไป เกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต เพื่อดำเนินธุรกิจธนาคารด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น 

ทั้งนี้ การรวมกิจการจะทำให้ขนาดและศักยภาพทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้เป็นธนาคารชั้นนำขนาดใหญ่ของไทย โดยภายหลังการรวมกิจการจะมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน และมีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ของไทย 

โดยธนาคารทั้ง 2 แห่ง มีจุดแข็งส่งเสริมกัน คือ ธนาคารทหารไทยมีจุดเด่นด้านการระดมเงินฝากด้วยกลยุทธ์ด้านเงินฝากที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ต่างจากธนาคารแบบดั้งเดิม ขณะที่ ธนาคารธนชาตเป็นผู้นำด้านสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์ 

ดังนั้นการรวมกิจการจึงช่วยเพิ่มศักยภาพในการระดมเงินฝากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และสร้างสมดุลให้กับโครงสร้างสินเชื่อได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

  • ด้านงบดุล จะทำให้มูลค่ากิจการเพิ่มขึ้น มีโอกาสรับอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่สูงขึ้นและต้นทุนในการจัดหาเงินทุนที่ลดลง
  • ด้านต้นทุน เมื่อรวมกิจการขนาดกิจการใหญ่ขึ้น ทำให้ต้นทุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการตลาดดีขึ้น
  • ด้านรายได้ การรวมกิจการจะทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพิ่มศักยภาพรายได้ 

นอกจากนี้ ธนาคารทหารไทยระบุในเอกสารแจ้ง ตลท. ว่า ธุรกรรมนี้จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.3 - 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งอาจมีการปรับมูลค่าในขั้นตอนสุดท้ายได้ โดยคู่สัญญาตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่กันในรูปแบบของเงินสด เและเงินสดส่วนหนึ่งจะนำกลับมาลงทุนในธนาคาร และภายหลังการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ จะเพิ่มทุนตามที่จำเป็น ซึ่ง ING, กระทรวงการคลัง และทุนธนชาต จะเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคารภายหลังการรวมกิจการ

โดย ING และ ทุนธนชาต ถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ส่วน ส่วนธนาคารโนวา สโคเทีย (ผู้ถือหุ้นธนาคารธนชาต) จะถือหุุ้นในสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ 

จ่อเปลี่ยนชื่อแบงก์ทันที หลังรวมกิจการเสร็จสิ้น

อีกทั้ง หลังการเข้าทำธุรกรรม ธนาคารจะมีชื่อการค้าใหม่ (rebranding) โดยพิจารณาจากจุดแข็งเชิงพาณิชย์ของชื่อการค้าเดิมของธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาต โดยชื่อการค้าใหม่ที่แน่นอนจะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการธนาคารภายหลังการรวมกิจการ 

สำหรับด้านพนักงาน เมื่อดำเนินการรวมกิจการแล้ว ธนาคารมีจุดประสงค์ที่จะใช้ความพยายามอย่างสมเหตุสมผลเพื่อดำเนินการจัดการด้านบุคลากรและพนักงานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ในกรณีต้องประเมินผลงานพนักงานจะมีการพจิารณาอย่างเป็นธรรมตามทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถ และคุณสมบัติของบุคคลนั้นๆ 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารทหารไทย คาดว่า ธุรกรรมทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยขึ้นอยู่กับการอนุมัติและการยินยอม และภายหลังธุรกรามเสร็จสิ้น ธนาคารทหารไทยและธนาคารธนชาตจะเริ่มดำเนินการรวมธุรกิจของทั้งสองธนาคารไว้ภายใต้ธนาคารเดียว

กระทรวงคลังยันไม่ทิ้งหุ้น TMB

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน คณะกรรมการธนาคารทหารไทย หรือ TMB กล่าวถึงท่าทีของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นจะใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นหรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงการคลังมองว่า การใส่เงินเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นจะทำให้เกิดความคุ้มค่า เมื่อเห็นโอกาสของผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นหลังแบงก์ทั้งสองควบรวมกิจการกันแล้ว โดยขนาดของแบงก์ใหม่จะใหญ่ขึ้นมาอยู่อันดับ 5 หรือ 6 จากปัจจุบันธนาคารอยู่อันดับ 6 ของแบงก์ในระบบ 

ส่วนที่ธนาคารทหารไทยเลือกควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาตแทนที่จะเป็นธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เพราะเห็นว่า ธนาคารธนชาตมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน หากต้องใส่เงินเพิ่มทุน จะไม่เกินกำลังที่กระทรวงการคลังจะใส่ได้ นอกจากนี้ ธนาคารธนชาตยังมีธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งทหารไทยไม่มี ฉะนั้น เมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 26 ก.พ.2562) ธนาคารทหารไทยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงการคลัง สัดส่วนร้อยละ 25.92 ธนาคารไอเอ็นจี (จากเนเธอร์แลนด์) สัดส่วนร้อยละ 25.02 ไทยเอ็นวีดีอาร์ ร้อยละ 11.50 SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED ร้อยละ 2.10 นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 1.28 กองทัพบก ร้อยละ 1.25 THE BANK OF NEW YORK MELLON ร้อยละ 1.05 STATE STREET EUROPE LIMITED ร้อยละ 1.00 กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว ร้อยละ 0.91 และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ร้อยละ 0.75

ขณะที่ ข้อมูลจากรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ธนาคารธนชาต มีรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 6 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 50.96 SCOTIA NETHERLANDS HOLDINGS B.V. สัดส่วนร้อยละ 48.99 รวมผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่เป็นคนไทย สัดส่วนร้อยละ 0.04 นายเวย์น ฮวน (WAYNE HUANG) ชาวไต้หวัน ร้อยละ 0.0007 นายชาชิน สุเรช เมตา (SHASHIN SURESH MEHTA) ชาวอินเดีย สัดส่วนร้อยละ 0.0001 และนายเคห์ คี กัวน์ (KEH KEE GUAN) สัดส่วนร้อยละ 0.0001

ผู้บริหาร 2 แบงก์เตรียมแถลงข่าวชี้แจง 9 โมงครึ่ง 27 ก.พ.

ด้านธนาคารธนชาต แจ้งกำหนดการแถลงโดยตัวแทนของกระทรวงการคลัง ผู้บริหาร บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) ในเวลา 09.30 น. วันพุธที่ 27 ก.พ.นี้