ไม่พบผลการค้นหา
ส.ว.รุมจวกวาระด่วนรายงานแผนปฏิรูปรอบ 3 เดืิอน ไม่ปลื้มแผนปฏิรูปการเมืองช้า ชี้คนรุ่นใหม่ถูกปลุกปั่น ล้างสมอง แนะเพิ่มการเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง แนะปลูกจิตสำนึกประชาชนรังเกียจทุจริตเลือกตั้ง

เวลา 10.00 น. วันที่ 1 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณาเรื่องด่วน รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นการรายงานในรอบ 3 เดือน ระหว่างเดือน ก.ค. – ก.ย. 2563 ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ

โดย อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) รายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปว่า ความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 12 ด้าน มีการกำหนดเรื่องและประเด็นการปฏิรูป จำนวนทั้งสิ้น 173 เรื่อง โดยมีการจัดระดับความสำเร็จเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย 1) ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนฯ จำนวน 17 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 10 2) ดำเนินการสำเร็จมากกว่า ร้อยละ 75 ของแผนฯ จำนวน 70 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 40 3) ดำเนินการได้ร้อยละ 50-75 ของแผนฯ จำนวน 62 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 36 4) ดำเนินการได้น้อยกว่าร้อยละ 50 ของแผนฯ จำนวน 24 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 14

สำหรับตัวอย่างความคืบหน้าของประเด็นปฏิรูปประเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ประกอบด้วย 1. ด้านการเมือง เช่น การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ 2. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การบริการภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน จากระบบ Biz Portal 3. ด้านกฎหมาย เช่น มีกลไกให้การออกกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี รวมทั้งมีกลไกการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้แล้ว 4. ด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น การพัฒนากลไกช่วยเหลือและเพิ่มศักยภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

5. ด้านเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตร บริหารจัดการผลิตภัณฑ์เกษตรตามแผนที่ (Zoning by Agri-Map)  6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบบริหารจัดการขยะในทะเลและชายฝั่ง โดยนโยบายประชารัฐขจัดขยะทะเล 7. ด้านสาธารณสุข เช่น ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (คลินิกหมอครอบครัว) 8. ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การปฏิรูปแนวทางการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ โครงการศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม 9. ด้านสังคม เช่น การปฏิรูปการออม สวัสดิการ และการลงทุนเพื่อสังคม

10. ด้านพลังงาน เช่น การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในกลุ่มอุตสาหกรรม 11. ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น จัดทำและบูรณาการโครงข่ายฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของทุกหน่วยงานผ่านระบบสารสนเทศ 12. ด้านการศึกษา เช่น การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

อนุชาระบุว่า สถานะกฎหมายภายใต้แผนฯ ทั้ง 12 แผน จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายที่แล้วเสร็จ จำนวน 50 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 23 ของกฎหมายที่เสนอทั้งหมด ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไปของห้วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 2564 มุ่งเน้นให้ความสำคัญที่กิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวน 62 กิจกรรม ซึ่งเป็นไปตามการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2563 โดยกำหนดให้มีจำนวน 13 ด้าน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ รายงานว่า การติดตามการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน มีประเด็นการติดตามจำนวน 111 ประเด็น คัดเลือกติดตามโครงการต่างๆจำนวน 273 โครงการ พบว่า ดำเนินการแล้วเสร็จ 35 โครงการ มีความคืบหน้าตามแผน 177 โครงการ ล่าช้า 61 โครงการ แผนและโครงการที่ล่าช้ามากที่สุดคือ แผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและการเมือง

สับแผนปฏิรูปการเมืองช้า แนะสถานศึกษาเพิ่มเรียนการเมือง หวั่นเด็กถูกล้างสมอง

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายแผนการปฏิรูปด้านการเมืองว่า การปฏิรูปด้านการเมืองมีความล่าช้า จึงเสนอว่า ควรเพิ่มการเรียนรู้เรื่องการเมืองภายในสถานศึกษามากขึ้น ให้นักเรียนมีความเข้าใจในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีการแสดงออกของกลุ่มคนที่อ้างตัวเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งที่ไม่เข้าใจระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง สะท้อนว่า ถูกปลุกปั่น ล้างสมอง หลอกลวงจากคนไม่หวังดี โดยมีการรับข้อมูลผิดๆ เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดี ดังนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์จึงอยู่ที่การปลูกฝังศึกษา เพื่อให้ได้นักการเมืองที่ดี เกิดการเลือกตั้งที่สุจริต ยุติธรรม

เสรี สมาชิกวุฒิสภา ประชุมสภา_201117.jpg

'วันชัย' ชี้แผนปฏิรูปการเมืองสำเร็จต่ำ แนะ รบ.ปลุกประชาชนรังเกียจทุจริตเลือกตั้ง

ด้าน วันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า หากการเมืองไทยไม่เกิดความเรียบร้อย มีความทะเลาะเบาะแว้ง มีการแบ่งสีแบ่งฝ่าย เกิดการรัฐประหาร จะทำให้ต่างประเทศไม่ยอมรับ ประเทศไทยต้องปฏิรูปการเลือกตั้งให้สุจริตยุติธรรม ทั้งนี้ แผนการปฏิรูประเทศด้านการเมือง ถือว่ามีความคืบหน้าน้อย โดยข้อสรุปในรายงานของกรรมาธิการติดตามฯ ชี้ว่า น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในระดับต่ำ เพราะไม่ได้กำหนดเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน

วันชัย.jpg

“ดังนั้น ความหวังการมีประชาธิปไตยที่มั่นคง ลดความขัดแย้งของคนในสังคม การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์จะเป็นไปได้ยาก เพราะมีแต่แผนไม่มีการนำไปสู่การปฎิบัติ ส่วนตัวไม่ได้ต่อว่าใคร แต่ขอให้กรรมการปฏิรูปและคณะรัฐมนตรี ช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนรังเกียจการทุจริตการเลือกตั้ง เหมือนกับการรณรงค์กินเหล้าเท่ากับแช่ง เราก็จะไม่กลับไปเป็นเหมือนบางประเทศใกล้ๆเราที่เกิดรัฐประหาร” วันชัย กล่าว