ไม่พบผลการค้นหา
จับตาประชุมร่วมรัฐสภา ถก 7 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่ามกลาง 2 ม็อบล้อมกดดัน 'ชวน' ขอให้เป็นดุลยพินิจของสมาชิกในการพิจารณา 'เพื่อไทย' หวั่นร่างไอลอว์ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยปี'56 ศาลฯเอาผิด ล้มล้างการปกครอง รอฟังเหตุผลชี้แจงร่างไอลอว์ก่อนตัดสินใจลงมติรับ-ไม่รับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (17 พ.ย. 2563) มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. นี้ โดยมีจำนวน 7 ญัตติที่ต้องพิจารณา ซึ่งในจำนวนนี้รวมร่างแก้ไขเสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ซึ่งมีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนร่วม 1 แสนคน

โดยก่อนการประชุม ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ระบุว่าประชาชนกลุ่มผู้ชุมนุมมีสิทธิเรียกร้องขอรัฐสภาผ่านร่างของประชาชน พร้อมย้ำว่าหากจะมีการชุมนุมก็ขอให้เป็นไปความสงบ อย่าคุกคามด้วยวาจาหรือการแสดงกิริยา เพื่อให้สมาชิกใช้สิทธิ์ในการพิจารณา 

ทั้งนี้ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีมีกระแสข่าวว่าร่างภาคประชาชนจะถูกตีตกไป และอาจจะเป็นช่วงเหตุความรุนแรงทางการเมืองขึ้นมาอีก โดยย้ำให้เป็นดุลยพินิจของสมาชิกรัฐสภาในการพิจารณา ส่วนผู้ชุมนุมที่จะปักหลักค้างคืน ก็ประสานเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย  

รอบสภาเช้า_๒๐๑๑๑๗_0.jpg


‘เพื่อไทย’ หวั่นร่างไอลอว์ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยปี'56

ขณะที่ สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงมติพรรคเพื่อไทย ไม่ยืนตามมติพรรคร่วมฝ่ายค้านที่จะรับร่างแก้ไขรธน. 7 ฉบับ เนื่องจากมี ส.ส.เพื่อไทยบางส่วน มีความกังวลเกรงว่าประวัติศาสตร์ปี2556 จะซ้ำรอย กรณีที่พรรคเคยถูกยื่นศาล รธน. กรณีการแก้ไขร่าง รธน. เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง จึงกังวลว่าจะถูกเล่นงานเพราะเคยถูกยื่นถอดถอนเอาผิดจากกรณีดังกล่าวมาแล้ว จนถึงขณะนี้คดีก็ยังไม่สิ้นสุด พร้อมย้ำว่าไม่ได้ปฏิเสธร่างไอลอว์ แต่ขอดูทางเทคนิคก่อน ซึ่งหลักการทั้ง 11 ข้อ ก็ตีความกันคนละอย่าง จึงต้องไปดูว่าในวาระ2-3ปรับได้หรือแก้หลักการได้หรือไม่ 

ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยขอฟังการอภิปรายร่างไอลอว์ก่อนว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือไม่ และหากไม่มีใครคิดเอาเรื่องหรือจะไปยื่นศาล ส.ส.พรรคก็จะสบายใจโหวตให้ แต่ขณะนี้ก็มีคนจ้องอยู่ เช่น กลุ่มไทยภักดี ที่เตรียมไปยื่น ดังนั้นจึงต้องป้องกันตนเองด้วย

สุทิน ย้ำว่า สาระของร่างไอลอว์ไม่ได้ติดใจ แต่ห่วงหลักการ 11 ข้อที่เปิดกว้างและไม่มีข้อยกเว้น ต่างจากร่างฉบับ1-2 ของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่มีจุดยืนชัดเจนไม่แตะหมวด1-2 ตามหลักการเดิมของพรรคเพื่อไทยที่เราเคารพอยู่ 

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมสรุปท่าทีในวันพรุ่งนี้ เวลา 10.00น.อีกครั้ง

สำหรับ 7 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา ประกอบด้วย

1.ญัตติแก้ไข มาตรา 256 พรรคร่วมฝ่ายด้าน

2.ญัตติแก้ไข มาตรา 256 พรรคร่วมรัฐบาล

3.ญัตติฝ่ายค้าน ยกเลิกมาตรา 270 และ 271

4.ญัตติฝ่ายค้านแก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272

5.ญัตติฝ่ายค้านยกเลิก มาตรา 279

6.ญัตติฝ่ายค้านแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง

7.ญัตติเร่งแก้รัฐธรรมนูญฉบับ iLaw

ทั้งนี้ การลงมติต้องใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกปัจจุบันรวม 732 คน แบ่งเป็น ส.ส. 487 คน และ ส.ว. 245 คน โดยหากจะผ่านญัตติต้องได้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 366 เสียง โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว. อย่างน้อย 82 คน

ส่วนขั้นตอนการลงมตินั้น เมื่ออภิปรายกันพอสมควรแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการลงมติ โดยจะโหวตพร้อมกัน 7 ญัตติในคราวเดียว วิธีการโหวตเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (3) คือ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย หรือที่เรียกว่า "ขานชื่อลงคะแนน" ซึ่งเมื่อขานชื่อสมาชิกคนใด ก็ให้คนนั้นลุกขึ้นมาและแจ้งการลงคะแนนของตนเรียงตามญัตติ รวม 7 ญัตติ การเรียกชื่อจะเรียกตามตัวอักษร ไล่ไปโดยไม่แยก ส.ส. หรือ ส.ว. เพราะถือว่าทุกคนเป็นสมาชิกรัฐสภา การลงคะแนนคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4-5 ชั่วโมง

ขณะที่บรรยากาศภายในอาคารรัฐสภาฝั่งห้องประชุมพระสุริยันต์ วันนี้ไม่ได้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยอะไรเป็นพิเศษ ทุกอย่างดำเนินตามปกติ ทั้งการสแกนตรวจกระเป๋าและการวัดอุณหภูมิ โดยไม่ได้พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาประจำการแต่อย่างใด 

รอบสภาเช้า_๒๐๑๑๑๗.jpg


'พิธา' ย้ำจุดยืนโหวตรับร่างไอลอว์

พิธา ลิ้มเจริญ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเดินทางมาสภาในวันนี้ เห็นถึงความยากลำบากในการเดินทางของประชาชน ส่วน ส.ส.ที่เดินทางมาประชุมก็ต้องอ้อมเเนวเเบริเออร์ที่ตำรวจตั้งเเนวป้องกันผู้ชุมนุม ซึ่งมาตรการต่างๆ ส่วนตัวไม่ได้กดดัน มองว่าเป็นเรื่องปกติของการเมือง เเต่ขอวิงวอนผู้เกี่ยวข้องในการดูเเลความเรียบร้อยพื้นที่รอบรัฐสภา เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มาเเสดงความคิดเห็น เพราะวันพรุ่งนี้ร่างเเก้ไขของไอลอว์จะเข้าสู่วาระการพิจารณา เเละเชื่อว่าผู้ที่ลงชื่อรอรับร่าง จะมาร่วมชุมนุมอย่างเเน่นอน

ส่วนพรรคก้าวไกล ก็เตรียมความพร้อมจะอภิปรายให้เต็มที่เพื่อให้ร่างของไอลอว์ผ่าน พร้อมยืนยันจุดยืนที่ต้องรับร่างของไอลอว์ เพราะเป็นร่างที่ครอบคลุม เป็นร่างที่ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพในการเปิดทางให้เเก้ไขรัฐธรรมนูญ เเม้จะมีการจำกัดไม่ให้เเก้หมวด 1 หมวด 2 เรื่องสถาบันฯ เเต่ของไอลอว์จะเปิดกว้างให้เเก้ทุกเรื่อง

ทั้งนี้ มองว่าหนทางที่จะคลี่คลายความขัดเเย้งที่มีอยู่ในขณะนี้ ร่าง 1 และ 2 เเละร่างที่ 7 รัฐบาลควรจะรับซึ่งภาพรวมที่ต้องใช้ระยะเวลา ถ้าทำอย่างเร็วที่สุดคือต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง นายกรัฐมนตรีลาออก ครม.สิ้นสภาพ ก็ยังมีญัติ 272 เเละ 4 ร่าง "เชื่อว่าจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ สร้างความปรองดอง มากกว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่เอาใครไม่รู้มานั่งเป็นคณะกรรมการกว่า 10 คณะ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง