วันที่ 11 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาวาระด่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจง ข้ออภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา ว่า ในการดำเนินนโยบายรัฐบาลจะยึดโยงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และประชาชนของรัฐบาลนี้ ครอบคลุมคนทุกกลุ่มทั้งคนเมืองคนต่างจังหวัดและคนทุกฐานะเอกชนและราชการ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
เศรษฐา ระบุอีกว่า ตนขอชี้แจงให้ชัดเจนในเรื่องนโยบายของการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ว่าด้วยเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ จะดำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขณะที่การพักหนี้ของเกษตรกร เศรษฐา ระบุว่า ทราบหรือไม่ว่า 9 ปีที่ผ่านมา มีการพักหนี้ไปแล้วกี่หน มีการพักหนี้ไปแล้วกว่า 13 หน ที่มีการระบุถึงข้อกังวลไปแล้วว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน มาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ เช่นการทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี ด้วยการใช้การตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ควบคู่กับการพักหนี้เพื่อทำให้เกษตรกรหายใจได้ลืมตาอ้าปากได้ เป็นช่วงที่ฟื้นฟูตัวเองได้ ทำให้มีกำลังใจในการที่จะกลับมาแก้ไขปัญหาประกอบอาชีพ อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี และการพักหนี้หนนี้จะเป็นการทำประโยชน์มากกว่าการพักหนี้ที่เกิดขึ้นมาในอดีต 9 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่สามารถซื้อสิ่งของได้ภายในระยะ 4 กิโลเมตรนั้น เศรษฐา ยืนยันว่า ตระหนักดีว่าในพื้นที่ชนบทอาจมีร้านค้า ไม่เพียงพอ จึงขอไปดูรายละเอียดและดำเนินงานให้เหมาะสมอีกครั้งตามคำแนะนำ ส่วนระยะเวลาในการใช้ 6 เดือน เรื่องนี้ถือว่าจำเป็นเนื่องจากต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพราะฉะนั้นระยะเวลาในการใช้เงินจำนวนนี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ส่วนที่มีบางคนบอกว่าอยากให้ยกเลิกการใช้รัศมี 4 กิโลเมตร เศรษฐา ชี้แจงว่า เศรษฐกิจภูมิภาคต้องการการกระตุ้น หากคนที่มีถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดใดควรกลับไปใช้ที่นั่น ซึ่งมีระยะเวลา 6 เดือนกลับไปเยี่ยมพี่น้องทำให้สถาบันครอบครัวแข็งแกร่งขึ้นก็ดี เรื่อง 4 กิโลเมตรตามบัตรประชาชน แต่จะพิจารณายกเว้นว่าบางจังหวัดหรือบางเขตอาจต้องมีการขยาย
นอกจากนี้ เศรษฐา ยังระบุว่า จะผลักดันให้มีการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากได้อ่าน จะพบว่ารัฐบาลมีแผนที่จะทำอะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยกเว้นการขอวีซ่าเข้ามาของบางประเทศโดยอยู่ระหว่างการดำเนินการ พร้อมกับระบุว่าการท่องเที่ยวจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่นำเม็ดเงินเข้ามาภายในประเทศ ทำให้ภาคท่องเที่ยวเติบโตอีกครั้งโดยตั้งเป้าสร้างรายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกัน เรื่องคำถามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สมควรได้รับการปรับโดยเร็วที่สุด โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ย ปีละ 5% ตลอด 4 ปีซึ่งจะทำให้ค่าแรงขึ้นไปได้ถึง 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน
ส่วนด้านค่าพลังงานเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตระหนักดีว่าเรื่องการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำให้ค่าพลังงานต่ำลงอย่างมีนัยได้ โดยจะมีรัฐมนตรีมาตอบในส่วนนี้
ส่วนคำถามเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เศรษฐา ยืนยันว่า ยังคงมีอยู่
ขณะที่ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่าง การจัดสรรที่ดินทำกิน เศรษฐา กล่าวว่า จะต้องดูทางที่ดิน สปก. และหน่วยงานราชการอื่นๆผ่านรูปแบบที่เหมาะสม ทำให้ประชาชนมีที่ดินทำกินอย่างมีศักดิ์ศรี
ส่วนที่มีการยกประเด็นหนึ่งขึ้นมา อย่างประเด็นน้ำในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะต้องดูแลอย่างเหมาะสมในทุกมิติ การบริหารจัดการเรื่องน้ำให้มีความเหมาะสม ระหว่างภาคเกษตรภาคอุตสาหกรรมการอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการวางสมดุลระบบนิเวศ
การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งอีก 5 เดือนจะเข้าสู่ช่วงวิกฤตอีกครั้ง เศรษฐา กล่าวว่า จะเริ่มทำเร็วๆ เพื่อให้เกิดผลได้ภายในต้นปี ดำเนินการโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนแยะ และเรื่องอื่นก็จะค่อยๆพัฒนากันไปตามขีดจำกัดของงบประมาณที่สามารถทำได้
โดย เศรษฐา ย้ำว่า มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตรัฐบาลให้ความสำคัญกับความโปร่งใส โดยจะใช้ระบบดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อลดการทุจริตประพฤติมิชอบ