นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ตนได้เป็นตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ ในเวที 7 พรรคฝ่ายค้านพบนักศึกษา
โดยนายรังสิมันต์ระบุถึงเนื้อหาที่ตนได้พูดในเวทีว่า รัฐบาลที่ดีที่สุดอาจเป็นอุดมคติที่ยังไปถึงได้ยาก แต่อย่างน้อยเราต้องมีรัฐบาลที่ดีให้ได้ก่อน แล้วรัฐบาลที่ดีเป็นอย่างไร? อาจมีความเห็นได้หลากหลาย รัฐบาลที่บริหารประเทศมีประสิทธิภาพ รัฐบาลที่หาเงินเข้าประเทศเก่ง รัฐบาลที่รักษาสันติภาพในประเทศได้ดี รัฐบาลที่ซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ
องค์ประกอบหนึ่งของรัฐบาลที่ดี คือเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชน เพราะรัฐบาลที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนย่อมไม่กลัวที่จะทำเรื่องเลวร้ายต่อประชาชน
การมีกลไกให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
ในแง่ของที่มา พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าตนได้รับเลือกมาโดย ส.ส. โดยไม่ต้องรอให้ไปถึง ส.ว.แต่การมีอยู่ของ ส.ว.ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. มีส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้พรรคการเมืองที่ไม่มีจุดยืนหนักแน่นเรื่องการต่อต้านเผด็จการ คสช. หันไปเข้าร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์
พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเลือกจาก ส.ส. 251 เสียง ส.ว. 249 เสียง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นรัฐบาลที่ยึดโยงกับประชาชน (ผ่าน ส.ส.) แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งยึดโยงกับกลุ่มคน 250 คนที่แต่งตั้งโดยคนเพียง 15 คน รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของ ส.ว. ด้วย และบางครั้งหากต้องเลือก ก็เป็นไปได้ว่าจะถือผลประโยชน์ ส.ว. มาก่อนผลประโยชน์ประชาชน
ขณะที่ในแง่ของการถอดถอน ช่องทางสำคัญที่สุดคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้ให้เป็นอำนาจ ส.ส. เท่านั้นในการอภิปรายและลงมติ ทว่าสิ่งที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550 เคยมี แต่ฉบับนี้เอาออกไป คือวิธีการลงมติแบบ Constructive Vote of No Confidence เดิมทีในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล ก็คือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับตำแหน่งรัฐมนตรี และการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาด้วย เรียกว่า “constructive vote of no confidence” คือเป็นการสร้างความแน่นอน ในแง่ของการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลว่าถ้าการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นผลสำเร็จ จะไม่ต้องมาต่อรองกันเรื่องตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ก็เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเลย
เมื่อไม่มี Constructive Vote of No Confidence ทำให้หากลงมติปลดนายกฯ ออกสำเร็จ ก็ต้องมาลงมติเลือกนายกฯ ใหม่อีกรอบ ซึ่ง ส.ว. ก็จะเข้ามาร่วมลงมติได้อีก ทำให้รัฐบาลไม่กลัวถูกอภิปรายฯ การอภิปรายฯ ที่เป็นเครื่องมือทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชน (ไม่ทำงานไร้ประสิทธิภาพ ไม่ก่อเรื่องอื้อฉาว) จึงไม่มีความหมาย
ดังนั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจึงไม่มีรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน อย่างน้อยตัวนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ความต้องการของประชาชนจึงไม่ได้มีความสำคัญที่สุด
นายรังสิมันต์ยังระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดอาจเป็นอุดมคติที่ยังไปถึงได้ยาก แต่อย่างน้อยเราต้องมีรัฐธรรมที่ดีให้ได้ก่อน นายรังสิมันต์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ดี ต้องประกอบด้วย
1.ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง
2.เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะรัฐบาล นิติบัญญัติ หรือตุลาการ จะต้องเคารพ
3.เป็นรัฐธรรมนูญที่องค์กรผู้มีอำนาจยึดโยงกับประชาชน
4.เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ส่วนปัญหาของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ได้แก่
1.ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง ประชามติก็ไม่เป็นธรรม
2.เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้มีอำนาจไม่เคารพ เช่น การถวายสัตย์ การตีความเรื่อง พ.ร.ก.ของศาลรัฐธรรมนูญ ในการออกพระราชกำหนด รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 172 กำหนดว่า พระราชกำหนดนั้นจะออกได้ ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะ "รักษาความปลอดภัยของประเทศ" "ความปลอดภัยสาธารณะ" "ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ" หรือ "ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ" และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้
3.เป็นรัฐธรรมนูญที่ ส.ว.และองค์กรอิสระไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
4.จากทั้งสามข้อ การประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงจับต้องได้ยากเหมือนเป็นสายลมที่พลิ้วผ่าน