นายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการ หรือ กมธ.การกฎหมาย การยุตธิรรม และสิทธิมนุษยชน แถลงความคืบหน้าการทำงานของ กมธ. หลายประเด็น ทั้ง กรณีผู้พิพากษาพยายามกระทำอัตวินิบาตกรรมโดย กมธ.มีมติร่วมกันว่า จะศึกษากรณีนี้ต่อไป แต่ยังไม่มีมติว่าจะเชิญบุคคลใดเข้ามาให้ข้อมูลบ้าง พร้อมย้ำถึงความตั้งใจของ กมธ.ว่าทำหน้าที่เพื่อทำให้ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการทำงานมากยิ่งขึ้น และคำนึงถึงความเป็นเอกภาพของผู้พิพากษา ให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะได้รับความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม และหายสงสัยในความเป็นอิสระในการทำงานของผู้พิพากษา
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมี กมธ.กิจการศาล ที่มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นประธาน ต้องการจะดำเนินการเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งตามข้อบังคับของสภาฯ กมธ.ไม่สามารถทำเรื่องซ้อนกันได้ แต่จะเป็นการทำงานร่วมกัน ดังนั้น จึงต้องหารือกันอีกครั้งระหว่าง กมธ.กฎหมายกับ กมธ.กิจการศาล ว่าชุดไหนจะเป็นหลักในการพิจารณากรณีนี้
นอกจากนี้ กมธ.กฎหมาย ยังได้พิจารณา ข้อร้องเรียนของนักเคลื่อนไหวและกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่ขอให้ กมธ.เชิญ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงาน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มาชี้แจง กรณีที่ก่อนหน้านี้ พล.ต.บุรินทร์ เป็นมือกฎหมายของ คสช.ได้ดำเนินการฟ้องร้องคดีนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างจำนวนมาก ซึ่ง กมธ.จะพิจารณาตามลำดับของคำร้อง คาดว่าน่าจะอยู่ลำดับที่ 8 ขณะที่ตอนนี้ กมธ.พิจารณาคำร้องในลำดับที่ 2 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าต้องเรียกตัว พล.ต.บุรินทร์เข้ามาชี้แจงอย่างแน่นอน เพราะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงตามคำร้อง ซึ่งประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับที่ พล.ต.บุรินทร์ เข้าแจ้งความเอาผิดแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน กรณีรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นนี้ยังไม่มีคำร้องมาที่ กมธ.กฎหมาย
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า แม้ตัวเองเคยเป็นนักเคลื่อนไหวและเคยถูก พล.ต.บุรินทร์ แจ้งความดำเนินคดีด้วย แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิการเป็น กมธ. และไม่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งใน กมธ.ก็มีทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลทำงานร่วมกัน โดยเห็นว่า การเรียก พล.ต.บุรินทร์ มาชี้แจง ก็จะเป็นเรื่องดีที่เจ้าตัวจะได้มีโอกาสให้ความชัดเจนกับ กมธ. และสังคม
ขณะเดียวกัน หาก กมธ.แต่ละคนทำงานไม่เป็นกลาง ก็จะส่งผลร้ายต่อตัวเองด้วย