ไม่พบผลการค้นหา
เพจนายกฯ โชว์ภาพการหารือกับเหล่านักเศรษฐศาสตร์ทั้งจากสถาบันการเงิน มหาวิทยาลัย และองค์กรวิจัยอิสระ พร้อมเผยได้รับความเห็นเป็นประโยชน์ เป็นแนวทางขับเคลื่อนประเทศพ้นวิกฤต 3 นักเศรษฐศาสตร์ยันนายกฯ ตั้งใจฟังความเห็น จดโน้ตตลอด

เพจเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha' เผยแพร่ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมกับนักเศรษฐศาสตร์จากทั้งภาคเอกชนและภาคการศึกษา

พร้อมข้อความระบุว่า "ก่อนการประชุม ศบศ. บ่ายวันนี้ ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับ นักเศรษฐศาสตร์ จากองค์กรวิจัยอิสระ มหาวิทยาลัย และสถาบันการเงินที่ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตในช่วงนี้ มีหลายเรื่องที่ได้คุยกัน เช่น นโยบายการเงินการคลัง ระบบภาษี การกระตุ้นการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงาน รวมถึงสถานการณ์และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลต้องเตรียมการเพื่อรับมือในอนาคต หลายเรื่องเราได้เริ่มทำไปแล้วหรืออยู่ระหว่างการดำเนินการเพราะตรงกับยุทธศาสตร์ชาติที่เรามี อีกหลายเรื่องจะเป็นประโยชน์ที่ช่วยให้ผมสามารถตัดสินใจและกำหนดแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลต่อไป ผมรู้สึกดีใจที่ได้เห็นความเต็มใจของทุกท่านที่พร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ ผมยืนยันครับว่ารัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังทุกภาคส่วนครับ"

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าพบนายกฯ ได้แก่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย, ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการทั่วไป ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่านวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร, เอกภพ เมฆกัลจาย ซีอีโอ บริษัทหลักทรัพย์ แอลจีที (ประเทศไทย), กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สนค.), ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก, ประชา คุณธรรมดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการพบปะหารือดังกล่าว มีสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน, ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมการประชุม

ประยุทธ์ สุพัฒนพงศ์ ประสงค์ นักเศรษฐศาสตร์
  • สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-ประสงค์ พูนธเนศ รับฟังนักเศรษฐศาสตร์

3 นักเศรษฐศาสตร์เล่าบรรยากาศการแลกเปลี่ยน

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมดังกล่าวตนได้นำเสนอประเด็นเรื่องสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ว่าสถานการณ์ในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก การช่วยเหลือด้านเงินกู้จึงยังจำเป็น อย่างไรก็ตาม หนี้ในโครงการสินเชื่อต่างๆ ก็ยังมีจำนวนมาก และยังไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อใด ดังนั้นสถาบันการเงินจึงยังต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ 

ขณะเดียวกัน ก็ต้องหาแนวทางผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยและรายเล็กเข้าถึงสินเชื่อ ที่มีอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อ ดังนั้นตนจึงได้เสนอให้ใช้กลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บยส.) เข้ามาช่วย โดยอาจจะต้องขยายการค้ำประกันสินเชื่อจากเดิมที่มีอยู่ 30% ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องพิจารณากับต้นทุนค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้สอดคล้องกันด้วย

"การหารือวันนี้ นายกฯ จดเยอะมาก และมีการซักถามในหลายประเด็น รวมถึงชี้แจงว่า บางส่วนที่นำมาพูดคุยกันทีมรัฐบาลก็คุยกันอยู่ คิดว่าโดยทัศนคติต่อการแก้ปัญหาไม่ได้แตกต่างกัน และการหารือวันนี้ก็เหมือนเช็กมุมมองต่างๆ มากขึ้น" เชาว์ กล่าว

อมรเทพ จาวะลา ซีไอเอ็มบี
  • อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การหารือในวันนี้เป็นการนำเสนอความคิดเห็นบนพื้นฐานทัศนคติที่ดีต่อกัน และนายกฯ ก็รับฟัง โดยระหว่างที่แต่ละคนพูด นายกฯ ไม่มีท้วงไม่มีแทรก นายกฯ รับฟังและจดโน้ตตลอด มีการสรุปให้อย่างดี ส่วนตัวตนได้เสนอความเห็นและมุมมองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวกับองค์กรต้นสังกัด โดยเสนอแนวทางให้ประเทศไทยพ้นสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีการหารือในประเด็นเรื่องนโยบายการคลัง และการจ้างงานกันเป็นส่วนใหญ่

อธิภัทร มุทิตาเจริญ
  • อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การหารือใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง มีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความเห็นกับนายกฯ แม้จะไม่ได้ทุกคนที่เข้าร่วมวันนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้พูดแสดงความเห็นจากมุมมองทางวิชาการและมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ อาทิตนเสนอเรื่องภาษี เนื่องจากสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทยขณะนี้มีจำนวนมากและจะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการคลังในหลายด้าน ซึ่งนายกฯ แสดงความสนใจเรื่องนี้ และมีข้อซักถามถึงแนวคิดเรื่องภาษี การจัดสรรนโยบายและระยะเวลาการดำเนินการ