ไม่พบผลการค้นหา
ปีนี้หมอดูทักกันหนาหูว่าอย่าออกจากบ้านมาโดนแสงคราส แต่ลองอ่านประวัติศาสตร์ดีๆ ซิว่ามันไม่ดีทุกเรื่องเลยจริงหรือเปล่า

วันนี้ (21 มิถุนายน 2563) ถือเป็นวันสำคัญ เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นในวันเดียว ทั้งเป็นวันครีษมายัน หรือวันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี, เป็นวันที่มีข่าวลือว่าโลกจะแตก (ถ้าใครยังได้อ่านบทความนี้อยู่ เราคือผู้รอดชีวิต) และเป็นวันที่เกิดปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา"

การเกิดสุริยุปราคารอบนี้แปลกหน่อย เพราะปรากฏการณ์ครั้งก่อนๆ ข้อความในโลกออนไลน์มักจะเตือนกันว่าอย่ามองด้วยตาเปล่านะ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยดูสุริยุปราคานะ ฯลฯ

แต่ปีนี้แทนที่จะพูดเรื่องการชมปรากฏการณ์อย่างปลอดภัย กลับมีการพูดกันเยอะว่า "อย่าออกจากบ้านนะ" เพราะถ้าโดนแสง "คราส" แล้วจะซวยฉิบหาย โดยอ้างอิงว่าตอนนี้มีดาวใหญ่ๆ หลายดวงให้พลังงานที่ไม่ดีตามหลักโหราศาตร์ เช่น ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ประกอบกับมีสุริยุปราคาแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่ หลายคนที่ฉันรู้จักถึงกับยกเลิกกำหนดการนั่นนี่ไปเลยก็มี แต่ฉันยกเลิกไม่ได้ ไฟท์บังคับเพราะอาหารแมวหมดเกลี้ยง ต้องออกมาซื้อข้าวแมว ยอมโดนแดดที่เขาว่ากันว่าไม่เป็นมงคลตั้งแต่ 11 โมงยันบ่ายสอง แถมแดดร้อนสุดๆ ร้อนแบบสุริยุปราคาก็ไม่อาจกีดกั้น

ทางดาราศาสตร์การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือสุริยคราส เกิดจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เงาจันทร์ก็ "ซ้อน-บัง" ดวงอาทิตย์ แต่คำว่า "คราส" นั้นมีความหมายว่า "กิน" (อีกความหมายคือ "จับ" หรือ "ถือ") เพราะมาจากความเชื่อว่าที่แสงอาทิตย์ลับดับหายเป็นเพราะถูกอะไรบางอย่าง "กลืนกิน" นั่นเอง

ในแต่ละวัฒนธรรมมีสิ่งที่ชอบกินดวงอาทิตย์แตกต่างกันไปตามความเชื่อหรือมุมมอง เช่น ในเวียดนามเชื่อว่า "กบอมดวงอาทิตย์", จีนเล่าว่าเป็นมังกร, พวกนอร์ส ในสแกนดิเนเวียบอกว่าหมาป่า ฯลฯ ส่วนบ้านเราที่แพร่หลายเป็นกระแสหลักที่สุดคือเชื่อว่า "พระราหู" เป็นผู้จับดวงอาทิตย์กินก่อนจะคลายออกมา เพราะต้องการแก้แค้นที่ "พระอาทิตย์-พระจันทร์" ไปฟ้องพระนารายณ์ว่าพระราหูแอบลักน้ำอมฤตไปกิน

eclipse-1871740_1920.jpg

ถ้าตำนานด้านบนก็ดูเป็นเรื่องแค้นๆ ให้พลังงานด้านลบอยู่ แต่อยากเสนออีกตำนานไว้หน่อย มาจากวรรณคดีเรื่อง "สุริยาศศิธร" ที่คาดว่าเขียนขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ วรรณคดีเรื่องนี้อารมณ์เหมือนชาดก เล่าเรื่องการกำเนิดโลกและดาวเคราะห์ รวมถึงมีคำทำนายตามความเชื่อทางโหราศาสตร์อยู่ด้วย โดยเล่าว่า พระราหู พระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นพี่น้องกัน พระจันทร์ก็สวยๆ ตามสไตล์ทอแสงนวลในยามค่ำ พระราหูเห็นน้องน่ารักก็อยาก "หยอกเย้า" จึงเข้าไปกอดจูบ กลายเป็นจันทรุปราคา จากนั้นก็ไปหยอกพระอาทิตย์ในแบบเดียวกันอีก เกิดเป็นสุริยุปราคา

"คิดแล้วราหู ออกกางวางวู่ จับดวงสุริยา สนั่นหวั่นไหว ในพื้นเวหา ปิดบังเข้ามา มืดกลุ้มคลุมไป"

"สัพยอกน้องยา มิใช่หมายว่า จะให้บรรลัย ชมฤทธิ์อนุชา จะกล้าปานใด แต่พอรู้ไว้ ขอชมบุญญา"

เหตุการณ์ครั้งนี้ในวรรณคดีบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายว่าเรื่องทั้งปวงเป็นกรรมจากอดีตชาติของพี่ๆ น้องๆ ขอให้มนุษย์และเหล่าเทวดาร่วมกันทำบุญช่วยพระอาทิตย์ และบอกว่าช่วงสุริยุปราคาแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่ดี ถึงขนาดว่าทำบุญมาเป็นร้อยครั้ง ก็ไม่เท่าทำตอนเกิดสุริยุปราคา

"แม้ใครศรัทธา ให้ทานข้าวปลา แก่คนเข็ญใจ ทำทานร้อยครั้ง จิตตั้งมุ่งหมาย บุญนั้นมิได้ เปรียบเท่ามิสูริย์" (สูริย์ หรือสูรย์ แปลว่าสุริยุปราคา)

"แม้นใครอาบน้ำ ชำระสระสนาน หมดโรคเป็นคุณ สารพัดประเสิรฐ ล้ำเลิศในสูริย์ ให้ทายเป็นบุญ ปลุกเสกเลขยันต์"

นั่นหมายถึงว่าในทัศนะคนโบราณ อย่างน้อยก็ในวรรณคดีเรื่องนี้ สุริยุปราคานั้นไม่ได้เลวร้าย ออกไปไหนไม่ได้ โดนแสงแล้วฉิบหายแต่อย่างใด แต่เป็นโอกาสให้ได้ระลึกถึงการทำบุญทำทาน ถือเสียว่าทำความดีอุทิศให้แก่พระอาทิตย์

ความเชื่อเปลี่ยนแปลงกันได้ตลอดเวลา 100 คนก็ 100 อย่าง และการทักตักเตือนให้ระวังอันตรายในวันเกิดสุริยุปราคาก็เป็นเรื่องดี ผู้คนจะได้มีสติ ไม่ทำอะไรเสี่ยงๆ แต่อีกมุมนึงวันนี้ตอนออกไปซื้ออาหารแมวคนบางตามาก ได้ยินเสียงพ่อค้าแม่ค้าบ่นด้วยซ้ำว่า คนไม่ออกมาเพราะกลัวสุริยุปราคากัน ฟังแล้วสะท้อนใจ...

Image by bdabney from Pixabay

************************

เผื่ออยากอ่านต่อ

สุริยาศศิธร, กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog