นายสุทธิโรจน์ ทรัพย์สมบัติ ผู้จัดการอาวุโส ศูนย์คัดแยกสินค้า ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยยังคงมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเฉพาะในส่วนของลาซาด้าประเทศไทยพบว่าตั้งแต่ดำเนินธุรกิจ 4 ปีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 เท่า และคาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องอีกหลายปี ตามความต้องการและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภค
ขยายลงทุน 1,000 ล้าน เปิดศูนย์คัดแยกสินค้าใหม่
ล่าสุดทางลาซาด้า จับมือ ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย ทุ่มเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท เปิดศูนย์คัดแยกสินค้าแห่งใหม่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บนพื้นที่กว่า 35,792 ตารางเมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีในประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศ โดยมีศักยภาพคัดแยกสินค้าได้สูงถึง 36,000 ชิ้นต่อชั่วโมง จากเดิมที่คัดแยกสินค้าได้เพียง 12,000 ชิ้นต่อชั่วโมง ทำให้ศักยภาพการขนส่งของลาซาด้าเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านชิ้นต่อวัน
คาดแคมเปญ 12.12 กระตุ้นยอดขายกว่า 1.5 ล้านชิ้น
นายสุทธิโรจน์ เปิดเผยว่า แคมเปญ 12.12 แกรนด์เซลส่งท้ายปี ของลาซาด้า คาดว่าจะมีการจัดส่งพัสดุมากถึง 1.5 ล้านชิ้น ภายใน 3 วันช่วงการจัดทำแคมเปญ โดยสินค้าชิ้นแรกมีการส่งคำสั่งซื้อเข้ามาตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนหนึ่งนาที จึงต้องเพิ่มเวลาทำงานคัดแยกสินค้าเป็น 24 ชั่วโมง จากปกติที่มีการทำงาน 20 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ระบบการจัดส่งของลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย เป็นไปตามแผนการจัดส่ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ 1และ2 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะใช้เวลาขนส่งไม่เกิน 1 วัน มีค่าเฉลี่ยจัดส่งอยู่ที่ 0.8 วัน และระดับ 3 ต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ใช้เวลาขนส่งไม่เกิน 2 วัน ทั้งนี้ ระบบขนส่งของลาซาด้าถือครองสัดส่วนเป็นผู้จัดส่งพัสดุบนแพลตฟอร์มของลาซาด้าเองถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในอนาคตยังมีแผนที่จะจัดส่งเองทั้งหมดอีกด้วย
ยูโอบี คาดมูลค่าตลาดธุรกิจอีคอมเมิร์ซแตะ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 68
ด้านนางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยเติบโตเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสะสมต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 33 ระหว่างปี 2558-2562 โดยปัจจัยหลักมาจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยจะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นจาก 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 เป็น 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 หรือมีอัตราการเติบโต 260 เปอร์เซ็นต์ นับจากนี้อีก 5 ปี
ท่ามกลางการบริโภคที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้น ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ในขณะที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญกับผู้บริโภคดึงประเทศไทยเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชัน การปรับตัวจึงนับเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด เพราะหากวัดภาพสะท้อนจากภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ตอบโจทย์ยุคการซื้อขายออนไลน์ยังไปได้ต่อ จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางรอดให้ผู้ประกอบการกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :