ไม่พบผลการค้นหา
รายงานยูเอ็นระบุต้องใช้เวลานับพันปีกว่าธรรมชาติจะสร้างหน้าดินให้หนาได้ประมาณ 3 ซ.ม. แต่การใช้สารเคมีและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ดินกร่อน เสียความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก กระทบต่อการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ร้อยละ 95 ของพืชผลที่ปลูกเพื่อเป็นอาหารของคนทั่วโลก ต้องอาศัยหน้าดินในการเพาะปลูก แต่ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา หน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์หายไปเกือบครึ่ง โดยมีสาเหตุหลักจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทั้งยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืช การไถหน้าดินโดยไม่ได้ปลูกพืชคลุมดินหมุนเวียน รวมถึงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภัยแล้งหรือไม่ก็น้ำท่วมขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินอย่างมาก

รายงานดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลที่รวบรวมโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งระบุว่า ต้องใช้เวลานานนับพันปีกว่าธรรมชาติจะสร้างหน้าดินที่มีความหนาประมาณ 3 เซนติเมตร และอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการเพาะปลูกพืช แต่หากมนุษย์ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีการปลูกพืช อาจทำให้หน้าดินที่ยังอุดมสมบูรณ์สูญหายไปภายใน 60 ปี เหลือไว้แต่ดินที่ไร้สารอินทรีย์ ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานที่เผยแพร่ในวารสารด้านโภชนาการของเครือข่ายวิทยาลัยอเมริกันเมื่อปี 2003 ระบุว่า สารอาหารที่พบในพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1950-1999 มีปริมาณลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก รวมถึงวิตะมินบี 2 และวิตะมินซี

ผู้จัดทำรายงานสรุปว่า สาเหตุหลักที่ทำให้พืชผักผลไม้ต่างๆ มีสารอาหารลดลง เกิดจากการเกษตรใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างหนัก หรือการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำกันเป็นเวลานานโดยไม่สลับกับการปลูกพืชอื่นๆ คลุมดิน ทำให้หน้าดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ เช่นเดียวกับผลผลิตที่ได้ก็มีปริมาณลดลง ถ้าหากไม่ปรับเปลี่ยนแก้ไขวิถีเกษตรดังกล่าว ในอนาคตประชากรทั่วโลกอาจเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนอาหาร

นอกจากนี้ นิตยสารฟอร์บส์ยังระบุด้วยว่า ปัญหาดินกร่อนหรือดินเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ราคาผลผลิตทางการเกษตรพุ่งสูง ทั้งยังต้องจัดสรรทรัพยากรน้ำไปใช้ในการเกษตรเพิ่มขึ้น เพราะดินไม่สามารถเก็บกักความชุ่มชื้นไว้ได้เหมือนเดิม ซึ่งการผันน้ำไปใช้กับการเกษตรมากๆ ก็อาจจะกระทบต่อภาคส่วนอื่นของสังคมที่ต้องใช้น้ำเช่นกัน และการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทางเศรษฐกิจต่างๆ สูงขึ้นตามไปด้วย 

ฟอร์บส์ยกตัวอย่างว่า ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาดินกร่อน-ดินเสื่อม เพราะจะต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคนี้ คือ ข้าว ซึ่งต้องใช้น้ำปริมาณมากในการทำนา และหากผลผลิตข้าวลดน้อยลงก็จะส่งผลกระทบต่อทั้งการส่งออกและการบริโภค รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: