งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกนั้น ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 17 เปอร์เซ็นต์ช่วงต้นเดือน เม.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 และเป็นอัตราที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ในงานวิจัยยังระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์นั้นทำให้บางประเทศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯเฉลี่ย 26 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหราชอาณาจักรสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 31 เปอร์เซ็นต์ และในออสเตรเลียก็ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้ถึง 28.3 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ มาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง อุตสาหกรรมและการเดินทางทางอากาศลดลง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในปริมาณสูง โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จากการเดินทางทางอากาศที่ลดลงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ในช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ทีมนักวิจัยคาดการณ์ว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ตลอดปีนี้จะลดลง 4-7 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก โดยจะขึ้นอยู่กับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ที่ยังคงบังคับใช้ในแต่ละประเทศทั่วโลก รวมไปถึงระยะเวลาในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ และตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ระบุว่า อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนจะต้องลดลงเหลือ 0 ภายในกลางศตวรรษนี้ เพื่อรักษาอุณหภูมิไม่ให้ร้อนจนสู่ระดับหายนะ
ทั้งนี้ ทีมวิจัยกล่าวว่าแค่การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการลดการเดินทางของมนุษย์นั้นยังไม่เพียงพอที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างและนโยบาย เพื่อให้สามารถบรรลุข้อตกลงปารีสได้
ที่มา NBCN / The guardian