ไม่พบผลการค้นหา
ปาฐกถาพิเศษ ศาสตราจารย์ไมเคิล ชาร์นีย์ (Michael W. Charney) นักวิชาการประวัติศาสตร์ ด้านเมียนมาศึกษา จาก School of Oriental and African Studies, University of London จากโครงการเสวนา “พม่าพาที: มุมมองนักวิชาการต่อสถานการณ์ปัจจุบัน” จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วันที่ 11 ก.พ. 2564
สิ่งสําคัญสามประการ

ประการที่หนึ่ง - ปาฐกถานี้มิได้มีเจตนาพิพากษาความดีเลวหรือประเด็นทางศีลธรรมจรรยา นักประวัติศาสตร์ศึกษาข้อมูลที่มีมิได้ตัดสินคุณธรรมในข้อมูลเหล่านั้น

ประการที่สอง - ปาฐกถานี้นําเสนอความจริง (truth) จากข้อมูลตามเอกสาร มิใช่ข้อเท็จจริง (facts) ของสิ่งที่เกิดขึ้น และเนื่องจากนักประวัติศาสตร์ต้องพิจารณาหาความจริงจากข้อมูลเท่าที่ปรากฏ ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกกันไว้นั้นจึงมีความเป็นอัตวิสัยอยู่บ้างเสมอ

ประการที่สาม - ปาฐกถานี้จะชวนชี้ให้ตระหนักถึงบ่วงประสบการณ์ (the burden of experience) ที่พันรัดพวกเราทุกคนไว้ในนัยหนึ่ง ประสบการณ์ให้ข้อมูลและชี้แนะเรา ในอีกนัยหนึ่ง ประสบการณ์ก็อาจบิดเบือนข้อมูลและชี้ฉุดเราได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ปาฐกถานี้จะชวนให้เราลองพิจารณาข้อมูลในมุมมองของกองทัพทหารเมียนมา และอาจพบว่าความจริง (จากมุมมองของกองทัพเมียนมา) นั้นอาจย้อนแย้งกับข้อเท็จจริงก็เป็นได้


ชื่อนั้น สำคัญฉะนี้

ข้าพเจ้าจะไม่เรียกเหตุการณ์ที่กิดขึ้นในเมียนมาว่า “รัฐประหาร” (a coup) แต่จะเรียกว่า “การยึดอํานาจโดยทหาร” (a military takeover) รัฐประหาร หรือการก่อกบฏ คือ การใช้ความรุนแรงเข้ายึดอํานาจการปกครองจากรัฐบาลโดยผิดกฎหมาย

เช่น เหตุการณ์ในประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1936 และในประเทศชิลีในปี ค.ศ. 1973 คนจํานวนมากเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาในขณะนี้ (กุมภาพันธ์ ค.ศ.2021) ว่า “รัฐประหาร” บ้างก็เรียกว่า “รัฐประหารเงียบ (แบบนุ่มนวล)” (soft coup) หรือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” (constitutional correction)

จุดมุ่งหมายของการใช้ชื่อเรียกเช่นนี้ก็เพื่อขับเน้นความรุนแรงของการใช้กําลังทหารเข้ายึดอานาจจากรัฐบาลพลเรือนอย่างผิดกฎหมาย แต่หากว่าการเข้ายึดอํานาจนั้นไม่ผิดกฎหมายและไม่รุนแรงเล่า เราจะยังเรียกเหตุการณ์นั้นว่า “รัฐประหาร” ได้หรือ

การประมวลข้อมูลในยุคดิจิทัล มนุษย์เราตัดสินใจด้วยข้อมูลที่อยู่ตรงหน้าสมมติว่าเรามีข้อมูลอยู่ 60% เราจะอนุมานข้อสรุปจากข้อมูล 60% ที่เรามีอยู่นี้ในอดีต เรามีเวลามากมายในการใคร่ครวญและตีความข้อมูลที่มีรวมไปถึงการครุ่นคํานึงถึงข้อมูลที่เราไม่มีอีก40% ก่อนการตัดสินใจ

ในปัจจุบัน ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 (The Third Industrial Revolution) หรือที่เรียกกันว่า การปฏิวัติดิจิทัล (Digital Revolution) การแบ่งปันข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัลได้พลิกรูปแบบการใคร่ครวญและตีความข้อมูลของมนุษย์ เรารับข้อมูลจํานวนมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว และรับมือกับข้อมูลที่หลั่งไหลท่วมท้นนี้ ด้วยคําพิพากษาสําเร็จรูปผ่านสื่อและโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ เช่น “ต้องโค้กสิจึงจะดี” และ “รัฐประหารน่ะ แย่”

ข้อมูลที่เราไม่มี หนึ่ง (เช่น ข้อมูลที่ไม่ถูกนําเสนอแบบสําเร็จรูปจากสื่อ) และต้องใช้เวลาใคร่ครวญตรึกตรอง เช่น การตั้งคำถามเพื่อหาคําตอบว่า กองทัพเมียนมาคิดอย่างไรเกี่ยวกับบทบาทของตนในเหตุการณ์ครั้งนี้


การตีความรัฐธรรมนูญ

การตีความรัฐธรรมนูญนั้น ดําเนินการได้สองวิธี คือ วิธีที่หนึ่ง ตีความตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญ วิธีที่สอง ตีความตามจิตวิญญาณแห่งรัฐธรรมนูญ

กองทัพเมียนมาดําเนินบทบาทของตนด้วยการตีความรัฐธรรมนูญในแบบที่สองนี้ในมุมมองของกองกําลังทหารเมียนมา รัฐประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเมียนมาถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อปกป้องรักษา และเอื้อประโยชน์แก่กองทัพเมียนมา เพื่อนุญาตให้กองทัพเข้าควบคุมความสงบเรียบร้อยในภาวะฉุกเฉินได้และเพื่อป้องกันการถ่ายโอนอํานาจไปสู่ภาคพลเรือน

บทบาทของกองทัพในการเข้ายึดอํานาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ดําเนินไปบนพื้นฐานข้อมูลเท่าที่เปิดเผย ดังอาจสรุปได้ดังนี้

หนึ่ง ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี ได้ที่นั่งในสภา 396 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ได้ที่นั่งในสภา 33 ที่นั่ง

สอง คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งเมียนมาไม่ดําเนินการสอบสวนข้อเรียกร้องกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง

สาม การเจรจาต่อรองอํานาจระหว่างกองทัพเมียนมากับนางอองซาน ซูจีไม่ประสบความสําเร็จ กองทัพจึงต้องปฏิบัติการเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกองทัพก่อนการจัดตั้งรัฐบาลจะเสร็จสิ้น

สี่ นายวิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา ปฏิเสธที่จะประกาศภาวะฉุกเฉิน พลเอกมินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี และตัวแทนกองทัพทหารเมียนมา จึงเข้าดํารงตําแหน่งรักษาการประธานาธิบดีและประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน

ในการนี้กองทัพเมียนมาตั้งข้อหา 3 กระทง ต่อนางอองซาน ซูจี (ว่าด้วยการละเมิดกฎหมายการนําเข้า-ส่งออกสินค้า) นายวิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา (ว่าด้วยการละเมิดข้อกําหนดในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส) และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (ว่าด้วยการทุจริตการเลือกตั้ง)

ในมุมมองของสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย การกระทําของทหารเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญแห่งเมียนมา สมาชิกพรรคฯ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “รัฐประหาร” และเป็นคําที่ประชาชนและสื่อต่างๆ ใช้เรียกเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้พลเรือนจํานวนมากออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน “การกระทํารุนแรง” นี้ด้วยวิถีอารยะขัดขืน

ในมุมมองของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย การยึดอํานาจโดยทหารในครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามจิตวิญญาณแห่งรฐัธรรมนูญเมียนมา ว่าด้วยการรักษาประโยชน์ของเหล่าทัพและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ


จิตตทัศน์ (Mindscape)

มนุษย์เรามองโลกในสองระดับ ระดับที่หนึ่ง ความแท้จริงระดับโลกียวิสัย (mundane reality) อันได้แก่ ความเป็นจริงทางโลกและทางชีวภาพของปัจเจกบุคคล

ระดับที่สอง จินตภาพทางสังคม (social imaginary) อันได้แก่ ค่านิยม สถาบัน กฎหมาย และสัญลักษณ์ที่เราใช้ประกอบสร้างเป็นภาพสังคมในจินตนาการ เราใช้การมองโลกทั้งสองระดับควบคู่กันไปแบบผสมผสานและทับซ้อน

ดังนั้น มนุษย์คนหนึ่ง จึงเป็นทั้งปัจเจกบุคคลและดํารงสถานะทางสังคม และแม้คนบางกลุ่มจะมีจินตภาพและบทบาททางสังคมร่วมกัน ทว่าแต่ละบุคคลในกลุ่มนั้นก็จะมีความแท้จริงระดับโลกียวิสัยที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไป

ปฏิสัมพันธ์ของการมองโลกในสองระดับนี้ทําให้มนุษย์เรามี “จิตตทัศน์” (mindscape) ที่หลากหลายแตกต่างในจิตตทัศน์ของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย

การยึดอํานาจของทหารนี้ ไม่ใช่การทํารัฐประหาร หากกองทัพเมียนมามีบทบาทในฐานะผู้ปกปักษ์ผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ (ด้วยการรักษาผลประโยชน์ของกองทัพ) การปฏิบัติการของทหารในการยึดอํานาจก็เป็นการกระทําตามบทบาทของตน กองทัพเมียนมามองข้อมูลที่มีว่าเป็นสาเหตุ อันสมควรแก่การเข้ายึดอํานาจจากรัฐบาลพลเรือน ทั้งนี้ทั้งนั้น มิได้หมายความว่า การกระทําเช่นนี้เป็นการกระทําที่ถูกต้องตามอาญาแต่อย่างใด


ในจิตตทัศน์ของอองซาน ซูจี

จิตตทัศน์ของผู้นํากองทัพเมียนมานี้ ไม่ใช่สิ่งที่พบเห็นในสื่อกระแสหลักและห้วงความคิดของผู้คนที่เฝ้าโหนกระแสทั้งหลาย ภาพที่ถูกนําเสนอซ้ำๆ คือ การต่อสู้ระหว่างขั้วตรงข้ามที่แทนด้วยภาพแบบฉบับของการทํารัฐประหาร (ใช้แทนกองทัพเมียนมา) และภาพแบบฉบับของผู้ถูกกระทํา (ใช้แทนนางออง ซาน ซูจี)

ในความระอุของการเรียกร้องอิสรภาพให้กับนางออง ซาน ซูจี และผู้นําพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกควบคุมตัวโดยกองกําลังทหารเมียนมา ยังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะทําความเข้าใจจิตตทัศน์ของนางอองซาน ซูจี ที่แม้จะมีความแตกต่างจากจิตตทัศน์ของผู้นํากองทัพ หากแต่ก็ทับซ้อนในประเด็นสําคัญซึ่งแสดงผ่านความปรารถนาที่จะร่วมงานใกล้ชิดกับกองทัพและมุมมองร่วมต่อ (ต้าน) กลุ่มชาติพันธุ์และชาวมุสลิม เช่น การเข้าข้างกองทัพเมียนมาในปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในปี ค.ศ. 2017 และความต้องการที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองสามารถดํารงตําแหน่งประธานาธิบดีแห่งเมียนมาได้

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นจิตตทัศน์ของนางอองซาน ซูจี แต่ไม่ใช่ภาพในมโนคติของคนส่วนใหญ่

ภาพลักษณ์ “นางเอก” แบบสําเร็จรูปของนางอองซาน ซูจี ที่ถูกนําเสนอในสื่อต่างๆ ในขณะนี้ทําให้การชุมนุมประท้วงในประเทศเมียนมามีเป้าหมายหลักคือ การสนับสนุนนางอองซาน ซูจี (ตามคําเรียกร้องของนางอองซาน ซูจีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) ไม่ใช่การสนับสนุนให้ธํารงประชาธิปไตยด้วยการจัดการเลือกตั้งใหม่ (ตามแถลงการณ์ของกองทัพเมียนมา)

สิ่งที่ควรตั้งข้อสังเกตและพิจารณาต่อให้ถี่ถ้วนคือ เป้าหมายของเหล่าผู้ชุมนุม ประท้วงกับนางอองซาน ซูจีนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

สิ่งที่ปาฐกถานี้ไม่ได้ทํา คือ การตัดสินคุณธรรม การเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และการผดุงความยุติธรรม

สิ่งที่ปาฐกถานี้กระตุ้นให้ทํา คือ การปลดกรอบความคิดทางการเมือง และการพยายามทําความเข้าใจจิตตทัศน์ของทั้งสองฝ่าย เพราะหากเราไม่เริ่มคิดใคร่ครวญให้กระจ่างตั้งแต่ตอนนี้ ไม่นานเราจะถูกกระแสข้อมูลไหลบ่าทับท่วมจนกลับมาตามหาความจริงไม่เจอ

ผู้ที่ไม่เข้าใจว่าเหตุใดตนจึงศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยวิธีที่ตนใช้ ผู้นั้นจะไม่มีวันเข้าใจประวัติศาสตร์เลย อีกทั้งประวัติศาสตร์เขียนขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หนึ่ง หากไม่รู้แจ้งแห่งแรงจูงใจในการเขียนแล้วนั้นก็อาจจะตกหลุมพลางเอาได้โดยง่าย


หมายเหตุ - สรุปและเรียบเรียงโดย ผศ.ดร.อุษา พัดเกตุ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จากโครงการเสวนาวิชาการ “พม่าพาที: มุมมองนักวิชาการต่อสถานการณ์ปัจจุบัน”