ไม่พบผลการค้นหา
ลูกผู้ชายครึ่งท่อนที่ไม่เคยยอมแพ้ต่อคำดูถูก ขาไม่จำเป็นต่อวิธีคิด ทัศนคติเชิงบวกมาจากสมองและหัวใจ เขาไม่ต้องการให้ใครมาสงสาร ขอเพียงแค่โอกาสเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

"แม้ผมจะมีชีวิตที่เเตกต่าง แต่ความเเตกต่างก็ไม่เคยทำให้ผมยอมแพ้ ความเเตกต่างยิ่งทำให้ผมต้องสู้มากกว่าใคร"

คำประกาศของหนุ่มชาวดอยวัย 22 ปี นามว่า 'ชาตรี วัชรธาดา' ที่มีร่างกายเพียงแค่ครึ่งท่อนบน แต่ไม่คิดยอมแพ้ต่อโชคชะตา

ลูกชายชาวไทใหญ่อพยพ พิการตั้งแต่กำเนิด เจอล้อเลียนผ่านสายตาและถ้อยคำดูถูกมาสารพัด น้อยใจบ้าง แต่ไม่คิดอยู่เฉยๆ ปล่อยชีวิตอย่างไร้ค่า มุ่งมั่นคว้าโอกาสเรียนหนังสือ มีอาชีพ และเป้าหมายชีวิตเหมือนคนครบ 32 ประการทั่วไป 

"อย่ามาสงสารผมครับ" คือสิ่งที่เขาบอกกับสังคม น้ำเสียงหนักแน่นจริงจังเหมือนคนไม่เคยผิดหวังมาก่อนในชีวิต 


คนอื่นทำผมเป็นตัวตลก

ต๊อด ชาตรี อายุ 22 ปี เกิดในครอบครัวชาวไทใหญ่ ที่อพยพเข้ามาอยู่ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เขาโชคร้ายพิการตั้งเเต่กำเนิด ร่างกายมีเพียงแค่ครึ่งท่อนบน ขณะที่มือขวามีเพียงแค่ 3 นิ้ว 

"ผมออกมาแค่ครึ่งตัว ไม่มีบาดแผลหรืออะไรนะครับ ตรงขามันด้วนๆ เนื้อกลมๆ ไปเลย"

ด้วยความยากจนของครอบครัว พ่อแม่ทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้าง มีภาระเลี้ยงดูลูกถึง 5 คน กว่าเขาจะได้รับการศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ ก็อายุ 12 ปีแล้ว โดยเข้าเรียนระดับประถมศึกษา 1-3 ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่ฮ่องสอน ระดับ ป.4- 6 ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ และมัธยมตอนต้นที่โรงเรียนสันทรายวิทยาคม 

ต๊อด ชาตรี

ซีนเจ็บปวดท้อแท้จากการโดนล้อเลียนมีสม่ำเสมอ และต้องใช้ความอดทนสูงลิ่ว 

"ตอน ป.1 ร้องไห้แถบทุกวัน อยากกลับบ้านตลอดเวลา ไม่เคยออกมาเรียนจริงๆ จังๆ เจอคนหมู่มาก พวกเขาเองก็ไม่เคยเจอคนแบบผม หนักมาก โดนเพื่อนแกล้งเพื่อนล้อ" 

"เมื่อก่อนผมชอบคิดว่าตัวเองเป็นตัวตลก เพราะคนอื่นชอบทำให้ผมเป็นตัวตลก เขาทำเหมือนผมไม่มีจิตใจ ทำเหมือนผมไม่มีความรู้สึกและร้องไห้ไม่เป็น บางทีอุ้มผมไปวางนั่นวางนี่ แล้ววิ่งหนี เอารถเข็นไปเล่น เอาไปซ่อน เอาตัวผมไปวางไว้ที่สูง วางไว้ในหญ้า ไม่มีใครชอบหรอกครับเจอแบบนี้ แต่ผมโดนแบบนั้นเป็นประจำ" ต๊อดเล่าช่วงเวลาที่ถูกรังแกในอดีต ซึ่งเขาแก้ปัญหาด้วยการหลีกหนีไม่เผชิญหน้ากับเพื่อนๆ พวกนั้น 

"ไม่อยากร้องไห้กับความสนุกของคนอื่นแล้ว" เขาเจ็บปวด "ตอนนั้นผมไม่ใช่ตัวเลือกของใครเลยครับ เราถูกแบ่งแยก และโยนไปอยู่ในมุมของเราเองบ่อยๆ" 


เงยหน้าสู้ 

'ต๊อด' เริ่มชินกับสายตาและคำดูถูก เติบโตไปพร้อมกับความอดทนและเสียใจรวมถึง 'พลัง' ที่ต้องการพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า  

"ถ้าเราไม่เอาคำพูดพวกนั้นมาใส่หัว มันก็ทำร้ายเราไม่ได้"

มุมปาก แววตา สีหน้าที่แสดงถึงความสงสารและเวทนา ถูกส่งมาให้เขาจนคุ้นเคยเหมือนเรื่องปกติ 

"สายตาพวกนี้ผมชินแล้ว ผมเจอมาทุกวัน และไม่อายที่จะออกไปใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก คนเรามันห้ามกันไม่ได้ เขาอยากจะทำอะไร คิดอะไร แต่เราห้ามตัวเองได้ ที่จะไม่ใส่ใจอะไรที่เล็กๆ น้อยๆ สายตาเขาไม่ได้ทำให้ชีวิตเราแย่ลง

ยิ่งเขามอง ยิ่งเขาดูถูก ยิ่งอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราเป็นคนหนึ่งที่สามารถทำเหมือนพวกคุณได้"

1.jpg

ต๊อดเลือกเรียนต่อระดับ ปวช.ที่แผนกวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่าง ตามความชอบส่วนตัวและมีฝันอยากเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ 

"ผมเลือกในสิ่งที่ไม่ฝืนกับตัวเอง" เขาอธิบาย "ผมขับรถเองอยู่แล้ว เป็นรถที่ดัดแปลงขึ้นมาเอง เราก็อยากซ่อมเป็นครับ อาจจะไม่เก่งเท่ากับช่างทั่วไป แต่ก็เป็นวิชาที่ติดตัวเราไปตลอด"

หลายคนบอกเกิดเป็นคนพิการไม่จำเป็นต้องเรียนสูง ร่างกายมีข้อจำกัด เป็นแค่พนักงานคอลเซ็นเตอร์หรือขายล็อตเตอรี่ก็พอแล้ว แต่หนุ่มชาวเหนือไม่คิดแบบนั้น 

"ผมเจอคำพูดแบบนี้บ่อย จากคนรอบข้างผม เขาไม่ได้ดูถูกนะ แต่เหมือนสงสาร บอกว่ายังไง มึงโตมาสักวันนึงก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน ขอเงินพ่อแม่อยู่ดี คำพูดแบบนี้ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก จนโตขนาดนี้ผมก็ยังฝังใจ มันกลายเป็นแรงผลักดันให้เราไม่ยอมเป็นอย่างที่เขาคิด" 

การศึกษาในวิทยาลัยสารพัดช่าง มีอุปสรรคอยู่บ้างสำหรับคนที่แตกต่างอย่างต๊อด แต่ในภาพรวมเป็นไปด้วยดี 

"อะไรที่ผมทำเองได้ ก็อยากจะทำ อาจไม่ดีเต็ม 100 เหมือนคนอื่น 60-70 เปอร์เซ็นต์ มันก็พอไหว คนอื่นซ่อม 5 นาที ผมอาจจะใช้เวลา 10 นาที" 

ต๊อด ชาตรี

เรียนรู้อย่างมืออาชีพ 

การโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อค้นหาสถานที่ฝึกงานในฐานะเด็ก ปวช.ปี 2 ของต๊อดถูกแชร์อย่างกว้างขวางไปทั่วสังคมออนไลน์ จนในสุดบริษัทโตโยต้า นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ตัดสินใจรับเขาเข้าฝึกงาน ในแผนกช่างเทคนิค

ต๊อดพยายามเรียนรู้ จดจำทักษะการทำงานอย่างมืออาชีพให้ได้มากที่สุด แม้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในการเคลื่อนไหวและรับน้ำหนัก

"เวลาเรียนถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ 60-70 เปอร์เซ็นต์ผมซ่อมได้ แต่รถยนต์ตอนนี้ยังไม่ได้ทั้งหมด เพราะอุปกรณ์หลายอย่างค่อนข้างใหญ่ มีน้ำหนักมาก ผมรับไม่ไหว แต่อย่างการถอดเปลี่ยนล้อ เปลี่ยนเบรค ถ่ายน้ำมันเครื่อง แบบนี้เราพอทำได้" เขาเล่าหลังฝึกงานได้ 7 วัน 

โตโยต้า นครพิงค์ จ่ายค่าแรงให้กับต๊อดเดือนละ 10,000 บาท รวมถึงให้สัญญาว่าจะรับเข้าทำงานหลังจากเรียนจบ 

"ขอบคุณมากสำหรับโอกาสครับ" เขากล่าวไว้ 

ต๊อด ชาตรี

จากตัวตลกสู่ผู้มอบพลังใจ

"ถ้าวัดกันที่ความรวย ผมคงแพ้ ถ้าวัดกันที่ร่างกาย ผมคงเเพ้ แต่ถ้าวัดกันที่ใจ ผมคงสู้สุดใจ จะไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ" 

ทัศนคติเชิงบวกของเด็กหนุ่มคนนี้สร้างขึ้นจากความอดทน เจ็บช้ำ ทุกครั้งที่ท้อแท้ใบหน้าและความเหน็ดเหนื่อยของพ่อแม่จะวิ่งรอดเข้ามาเสมอ 

"ผมนึกถึงสมัยเป็นเด็ก พ่อแม่ลำบากมากที่ต้องมาดูแลคนแบบผม ทำให้ผมเติบโตและสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้" หนุ่มช่างยนต์ฮึกเฮิม 

"ผมต้องสู้ ต่อให้เหนื่อยแค่ไหน เราก็ไม่หมดหวัง สักวันเราจะต้องดูแลพ่อแม่ให้ได้ ทำให้เขาภูมิใจ ถึงผมมีแค่ครึ่งท่อน ผมก็เป็นลูกคนนึงที่เลี้ยงดูท่านได้" 

เป้าหมายระยะสั้นของต๊อดคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากที่สุดระหว่างฝึกงาน เรียนให้จบ ปวช. และต่อด้วย ปวส. ขณะที่ในระยะยาวคือเปิดอู่ซ่อมรถมอเตอร์ไซค์เล็กๆ และทำมันอย่างมีความสุข เชิดหน้าในฐานะมนุษย์ได้อย่างไม่อายใคร 

ที่ผ่านมาผู้ชายคนนี้อาจดูเป็นคนน่าสงสารจากสภาพร่างกาย แต่ใครจะรู้ว่าวันนี้เขากลายเป็นคนที่ส่งต่อกำลังใจให้กับผู้คนอย่างกว้างขวาง จากสเตตัสฟีลกู๊ดในเฟซบุ๊ก

"ชีวิตเรามีคุณค่ามากขึ้น และทำให้ผมเห็นว่าสังคมนี้ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ได้รังเกียจคนแบบเรา" เขาทิ้งท้ายพร้อมบอกแทนใจคนพิการจำนวนมากว่า 

"พวกเราไม่ได้อยากเป็นภาระหรือให้ใครมาสงสาร ขอเพียงโอกาสให้เราได้ทดลองทำ ถ้าผมไม่ได้ลอง ผมไม่เชื่อว่าผมทำไม่ได้"

ต๊อด ชาตรีต๊อด ชาตรีต๊อด ชาตรี


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog