ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์เตือนภัยสารเสพติดแอลเอสดีในรูปแบบแสตมป์ ทำให้เกิดอาการหลอนประสาท ถ้าถึงขั้นรุนแรงอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

เฟซบุ๊กเพจ กรมการแพทย์ เผยแพร่คำเตือนของนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ หลังจากมีรายงานข่าว การจับกุมผู้ค้า 'แสตมป์มรณะ' หรือที่เรียกอีกอย่างว่า 'กระดาษเมา' หรือ 'กระดาษมหัศจรรย์' ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในกลุ่มนักท่องเที่ยว จะทำให้ผู้เสพเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต เพราะเป็นการเสพสารแอลเอสดี (LSD) ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1

ทั้งนี้ สารเสพติดดังกล่าวถูกเรียกว่าแสตมป์มรณะ เพราะเป็นการนำสารแอลเอสดีมาหยดลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับ (blotter paper) โดยอาจมีลวดลายหรือสีสันต่างๆ แล้วแบ่งเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดเล็กคล้ายแสตมป์ ใช้อมใต้ลิ้น โดยจะออกฤทธิ์ภายใน 30 – 90 นาที นาน 8 – 12 ชั่วโมง ส่งผลให้รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตลดลง และอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น เหงื่อออก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ปากแห้ง และมือสั่น

ในระยะแรกที่เสพสารแอลเอสดีเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้ผู้เสพรู้สึกมีความสุข อารมณ์ดี คึกคัก แต่หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง เห็นภาพหรือเหตุการณ์ในอดีต เกิดอาการหวาดกลัวจนกระทั่งอาจทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

AFP-แสตมป์มรณะ-สแตมป์มรณะ-LSD-แอลเอสดี-กระดาษเมา-สารเสพติด-ของกลาง.jpg
  • 'กระดาษเมา' หรือ 'แสตมป์มรณะ' มีลัักษณะคล้ายแสตมป์ที่ใช้กันทั่วไป

ขณะเดียวกัน นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เสพสารแอลเอสดีเกินขนาด มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตเรื้อรัง เช่น โรคจิตเภทหรือโรคซึมเศร้า เกิดอาการหวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน แม้จะหยุดใช้ยาแล้ว แต่อาการโรคจิตอาจเป็นซ้ำได้อีก การรักษาอาการดังกล่าวทำได้ยากและอาจต้องใช้เวลานานเพื่อให้อาการทุเลาลง 

ทั้งนี้ นายแพทย์สรายุทธ์ฝากย้ำเตือนกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่นิยมเสพสารแอลเอสดี ให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะการเสพสารแอลเอสดี ทำให้ผู้เสพมีปัญหาด้านการรับรู้ การคิดและการตัดสินใจ อาจนำมาซึ่งเหตุรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น เช่น เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การทำร้ายตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นผลจากเกิดภาพหลอนหลังจากการเสพสารแอลเอสดี 

หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลาและปัตตานี