เหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นได้แม้ในโลกทุกวันนี้ จากการที่ผู้นำรัฐบาลของประเทศหนึ่งทำตัวไม่ต่างกับ "สลัดอากาศ" จี้เครื่องบินให้ลงจอด โดยย้อนไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 พฤษภาคม) เครื่องบินขับไล่แบบ MiG-29 ของกองทัพอากาศเบลารุสได้มีปฏิบัติการสกัดเครื่องบินพาณิยช์ของสายการบินไรอันแอร์ (Ryanair) เที่ยวบินที่ FR4978 ซึ่งเดินทางจากรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ มุ่งหน้าไปยังเมืองวิลเนียสของลีทัวเนีย ทว่าระหว่างที่บินผ่านน่านฟ้าของเบลารุส เครื่องบินขับไล่ของกองทัพเบลารุสได้บังคับให้เครื่องบินพาณิยช์ลำดังกล่าวลงจอดที่สนามบินของกรุงมินส์ก เมืองหลวง โดยอ้างว่ากลุ่มฮาท่าขู่วางระเบิดเครื่องบินลำนั้น
ทว่าภายหลังเหตุการณ์พลิกผัน ที่ทางการเบลารุสบังคับให้เครื่องบินลำดัวกล่าวลงจอด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกับคำขู่วางระเบิดหรือกลุ่มก่อการร้ายแต่อย่างใด แต่เพียงเพื่อต้องการจับตัวหนึ่งในผู้โดยสารของเครื่องบินลำนั้นคือ โรมัน โปรตาเซวิช (Roman Protasevich) ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหว วัย 26 ปี ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และถูกจับตาจนต้องลี้ภัยไปยังต่างแดนจากความกล้าหาญในการวิพากษ์วิจาณ์รัฐบาลเบลารุสภายใต้การครองอำนาจอันยาวนานของลูคาเชนโก
หนึ่งในผู้โดยสารบนเครื่องซึ่งเป็นพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ เผยกับนักข่าวบีบีซีว่า โปรตาเซวิช มีอาการตกใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่าหน่วยจู่โจมขึ้นมาควบคุมตัวเขาบนเครื่องบิน พร้อมแฟนสาวอีกคนที่ชื่อโซเฟีย ซาเปกา ก็ถูกควบคุมตัวด้วยเช่นกัน ภายหลังที่เบลารุสจับกุมโปรตาเซวิชพร้อมแฟนสาวแล้ว ได้อนุญาตให้เที่ยวบินดังกล่าวออกเดินทางไปยังจุดหมายคือกรุงงวีลนิอุส ของลิทัวเนีย แต่ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 7 ชั่วโมง
ผู้โดยสารที่มากับเครื่องบินลำดังกล่าว เผยสำนักข่าวเอเอฟพี ว่า พอโปรตาเซวิครู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเขา เขาได้บอกกับผู้โดยสารคนอื่นๆ ว่า เอาอาจลงเอยด้วยการถูกประหารชีวิต ขณะที่ผู้โดยสารอีกคนระบุว่า โปรตาเซวิครีบเปิดช่องเก็บของเหนือศีรษะทันทีเมื่อรู้ว่าเครื่องบินกลับลำ พร้อมนำคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือส่งให้แฟนสาวที่เดินทางไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่ก็จับกุมทั้งเขาและแฟนสาวแต่ยังไม่ชัดเจนว่าเธอจะถูกตั้งข้อหาใด
สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า นายโปรตาเซวิช เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตบรรณาธิการประจำสำนักข่าวออนไลน์สัญชาติโปแลนด์ Nexta บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง Telegram ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากการนำเสนอข่าวประท้วงต่อต้านรัฐบาลนายลูคาเชนโก ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป เนื่องจากรัฐบาลได้ทำการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด
ด้วยความเคลื่อนไหวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาโดยตลอด เขาจึงเป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลเบลารุส ความกังวลจากการจับกุมโดยรัฐบาล นายโปรตาเซวิชได้ลี้ภัยออกจากเบลารุสไปยังลิธัวเนียในปี 2562 โดยโปรตาเซวิชยังคงทำการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนายลูคาเชนโกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขากลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดียุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 12 ปี
นอกจากนั้น นายโปรตาเซวิช ยังถูกหน่วย K.G.B ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงของเบลารุสกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ฐานความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงถึงขั้นประหารชีวิต ทาดีอุส กิกซาน บรรณาธิการของ Nexta สื่อที่โปรตาเซวิซเคยทำงานด้วย ทวีตข้อความว่า สายลับของเบลารุสได้ขึ้นเครื่องบินลำดังกล่าวมาด้วย โดยติดตามและแจ้งเบาะแสของโปรตาเซวิชมาตลอด
นอกจาก โปรตาเซวิชแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลเบลารุสภายใต้การนำของลูคาเชนโกได้ดำเนินการจับกุมผู้เห็นต่างไปแล้วหลายราย มีเพียงนักข่าวหนุ่มผู้นี้ที่รอดออกมาได้ แต่ก็มิวายถูกรัฐบาลตามจับกุมได้ในที่สุด ปฏิบัติการไล่จับผู้เห็นต่างของลูคาเชนโกซึ่ง "เล่นใหญ่" มีพฤติกรรมไม่ต่างกับโจรสลัดอากาศ ที่ถึงขนาดจี้เครื่องบินพาณิชย์ให้ลงจอดเพียงเพื่อจับกุมคู่อริคนๆ เดียวนั้น ได้สร้างกระแสความไม่พอใจต่อบรรดาชาติสหภาพยุโรป บรรดาประเทศตะวันตกกล่าวหาว่ารัฐบาลเบลารุส ได้กระทำการจี้เครื่องบินของสายการบินพาณิชย์อย่างผิดกฎหมาย
ซีอีโอของสายการบินไรอันแอร์ ระบุว่า เหตุการณ์นี้คือกรณีของการจี้เครื่องบินที่มีรัฐเป็นผู้สนับสนุน (state-sponsored hijack) และดูเหมือนเป็นความตั้งใจที่ต้องการนำตัวนักข่าวพร้อมเพื่อนร่วมเดินทางออกมาจากเครื่องบิน โดยสายการบินยังทราบชื่อของสายลับเคจีบีที่แฝงตัวบนเครื่องลำดังกล่าวด้วย แต่เปิดเผยมากกว่านี้ไม่ได้เพราะทั้งองค์การนาโต้ (NATO) และสหภาพยุโรป (EU) กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ขณะที่ อินกริดา ซิโมไนต์ นายกรัฐมนตรีลิทัวเนีย ชาติเพื่อนบ้าน ได้ทวีตข้อความแสดงความไม่พอใจว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงการโจมตีต่อลิทัวเนีย แต่นี่คือการก่อการร้ายโดยรัฐต่อความมั่นคงของพลเมืองสหภาพยุโรปและชาติอื่นๆ อีกด้วย”
สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้นำ 27 ชาติสมาชิกอียู เห็นพ้องในการออกมาตรการคว่ำบาตรเบลารุส ประกอบด้วย การสั่งห้ามสายการบินของเบลารุสบินผ่านน่านฟ้า หรือใช้สนามบินของประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ พร้อมยังร้องขอให้สายการบินในอียูทั้งหมดหลีกเลี่ยงการบินผ่านน่านฟ้าเบลารุส รวมทั้งเรียกร้องให้ทางการเบลารุสทำการปล่อยตัวนายโปรตาเซวิชในทันที และขอให้องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทำการสอบสวนเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเทียบเท่ากับ”การก่อการร้ายโดยรัฐ” นอกจากนั้น ยังมีมาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐของเบลารุสที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นรายบุคคลด้วย
ด้าน นายแอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ ก็ได้ออกมาแถลงการณ์ประนามเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การบังคับให้เครื่องบินลงจอดเป็นการกระทำที่น่าตกตะลึงเป็นอย่างมาก และเรียกร้องให้เบลารุสปล่อยตัวนายโปรตาเซวิชในทันที พร้อมเผยว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะหารือกับชาติพันธมิตรเพื่อหาแนวทางดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย หลายดินแดนได้แตกออกเป็นรัฐอิสระ หนึ่งในนั้นคือเบลารุส 'อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก' ขึ้นครองอำนาจเป็นประธานาธิบดีเบลารุส ตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2537 และยังคงครองอำนาจมาจวบจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 27 ปี
ผู้ตั้งฉายาเผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป คืออดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเมื่อปี 2548 เคยเรียกประเทศเบลารุสว่า เป็นชาติเผด็จการที่แท้จริงประเทศสุดท้ายที่เหลืออยู่ในใจกลางยุโรป" ในขณะที่สื่อตะวันตก มักขนานนามลูคาเชนโกว่า ‘Europe’s last dictator’ หรือผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป
อดีตผู้บริหารงานเกษตรกรรมของอดีตสหภาพโซเวียตวัย 65 ปี ผู้นี้ เพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อ 9 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เขาดำรงตำแหน่งวาระที่ 6 ในฐานะประธานาธิบดี อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของลูคาเชนโก ไม่ต่างจากการบิดเบือนกฎหมายเพื่อต่ออำนาจให้ตนเอง เนื่องจากเขามักใช้สไตล์การปกครองที่ชวนให้นึกย้อนถึงกลิ่นอายสมัยยุคสหภาพโซเวียตเรืองอำนาจ มีการควบคุมสื่อกระแสหลัก คุกคามจับกุมนักเคลื่อนไหวที่เห็นต่าง หรือนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ผ่านหน่วยสืบราชการลับที่ยังเป็นชื่อเดียวกับหน่วยสืบราชการลับยุคโซเวียตที่เรียกว่า KGB ทำหน้าที่จับตาความเคลื่อนไหวของผู้เห็นต่างอย่างใกล้ชิด
เพียงไม่นานหลังลูคาเชนโกขึ้นครองอำนาจ ในปี 2547 เขาได้เดินหน้าจัดทำประชามติ อันนำไปสู่การยกเลิกข้อกำหนดจำกัดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงสองสมัย จึงเป็นการปูทางให้ลูคาเชนโก "อยู่ยาว" ปกครองเบลารุสได้อย่างไม่มีกำหนด
การเลือกตั้งในปีที่แล้ว นับว่าสร้างแรงสั่นคลอนต่ออำนาจของลูคาเชนโกอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเขามีคู่แข่งทางการเมืองคือ สเวตลานา ติคานอฟสกายา สตรีผู้ประกาศท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี หลังจากที่ผู้เป็นสามีของเธอ ซึ่งเป็นนักเขียนชื่อดังที่มักวิพากษ์วิจาณ์รัฐบาลลูคาเชนโก ถูกตัดสินจำคุกและตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ผลการเลือกตั้งพบว่า ลูคาเชนโกได้รับคะแนนเสียงกว่า 4.6 ล้านคะแนน หรือคิดเป็น 80% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ติคานอฟสกายา ได้รับคะแนนเพียง 6 แสนคะแนน หรือคิดเป็น 10% แม้ว่าติคานอฟสกายา อ้างว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เธอได้คะแนนเสียงจากประชาชนถึง 60-70% ตามเขตที่มีการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างถูกต้อง แต่ลูคาเชนโกอ้างชัยชนะแทน จนส่งผลให้เกิดกระแสการประท้วงในกรุงมินสก์ ประชาชนหลายแสนคนลงสู่ท้องถนน มีการจับกุมผู้ประท้วงหลายพันคน ลูคาเชนโกเคยเตือนด้วยว่า ใครก็ตามที่เข้าร่วมการประท้วงของฝ่ายค้าน จะถูกจัดให้เป็น "ผู้ก่อการร้าย" ลูคาเชนโกสั่งปราบปรามประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านผลการเลือกตั้งที่พวกเขาเชื่อว่าไม่มีความชอบธรรม โดยมีมวลชนฝั่งที่สนับสนุนลูคาเชนโกผสมโรงจนเกิดเป็นเหตุจลาจล ขณะที่นางติคานอฟสกายาและนักการเมืองฝ่ายต่อต้านคนอื่นๆ ต่างต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
องค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป หรือ OSCE ซึ่งเป็นหน่วยงานจับตากระบวนการเลือกตั้ง ระบุว่า ไม่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใดในระหว่างที่นายลูคาเชนโกดำรงตำแหน่งผู้นำที่มีการตัดสินอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรม
ลูคาเชนโก มักชูจุดเด่นของตนว่า "เขาคือผู้รับประกันความมั่นคงของเบลารุสที่ดีที่สุด ทั้งเป็นผู้นำที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติจากการแทรกแซงของต่างชาติ" รูปแบบคำพูดแนวนี้ล้วนได้ใจชาวเบลารุสที่สูงวัย สังเกตได้จากกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนเขาเมื่อปีที่แล้วซึ่งส่วนมากเป็นคนวัยผู้ใหญ่ ตรงข้ามกับกลุ่มต่อต้านที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ประกอบกับบาดแผลจากอดีตในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งประเทศเคยตกเป็นเหยื่อของนโยบายทำลายล้างข้าศึกที่รุกรานมา จนทำให้ต้องสูญเสียประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ นับตั้งครองอำนาจลูกาเชนโกพยายามที่จะโน้มน้าวให้พลเมือง 9.5 ล้านคน เชื่อว่า เขาเป็นผู้ที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพขึ้นในประเทศ เป็นผู้รักชาติ และคอยปกป้องประชาชนจากการแทรกแซงของต่างชาติ และภาคภูมิใจในกองทัพของชาติตน
แม้จะมีสายสัมพันธ์จากสมัยโซเวียต แต่พอมาถึงยุครัสเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลมินสก์กับเครมลินแทบไม่ต่างอะไรกับ ไม้เบื่อไม้เมา คู่รักคู่แค้น ปัจจุบันรัสเซียถือชาติพันธมิตรหลักของเบลารุส ทั้งสองมีความใกล้ชิดด้านการทหาร ทั้งซ้อมรบร่วมกัน ซื้อขายอาวุธร่วมกัน ขณะเดียวกันเบลารุสยังพึ่งพาการค้ากับรัสเซีย แต่ความสัมพันธ์ของสองชาติกลับลุ่มๆ ดอนๆ โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งปีที่แล้ว ลูคาเชนโกกล่าวหารัสเซียว่าเป็นวายร้ายพยายามแทรกแซงกิจการภายในประเทศ เขาอ้างว่า กองกำลังรัสเซียซึ่งไม่ได้ระบุถึงหน่วยงาน พยายามช่วยเหลือศัตรูทางการเมืองและก่อความไม่สงบขึ้น ประกอบกับการที่รัสเซียยุติการจัดหาน้ำมันและก๊าซราคาถูกกว่าท้องตลาดให้แก่เบลารุส ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ลูคาเชนโกกำลังเผชิญกระแสต่อต้าน ยิ่งซ้ำเติมเสถียรภาพทางอำนาจของเขา
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับปูติน จากมุมมองของ โอเล็ค ชูไปรนา แห่งศูนย์ศึกษายุโรปและยูเรเชียแห่งมหาวิทยาลัยเมย์นูธ (Maynooth University) ในไอร์แลนด์ระบุว่า ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งปูตินและลูคาเชนโก มีความสัมพันธ์แบบเพื่อนรักเพื่อนแค้น เบลารุสได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากรัสเซีย โดยเฉพาะด้านพลังงาน การที่ชาวเบลารุสได้ใช้พลังงานราคาถูกย่อมซื้อใจประชาชนได้ ทว่ากระทั่งรัสเซียยุติการจัดหาพลังงานราคาถูกให้ ย่อมไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีต่อเขานัก ชาวเบลารุสยังคงมีอคติต่อรัสเซียอยู่ สืบเนื่องจากผลกระทบครั้งสมัยสหภาพโซเวียต แต่รัสเซียเองก็ระแวดระวังในเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดกระแสต่อต้านรัสเซียในเบลารุส ทว่าขณะเดียวกัน รัสเซียก็ไม่อาจปล่อยให้ลูคาเชนโกถูกโค่นล้มลงได้เช่นกัน เห็นได้จากเมื่อเดือนกันยายนปีที่ ผู้นำทั้งสองชาติได้พบกัน รัสเซียได้อนุมัติเงินกู้แก่เบลารุส 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อนำไปใช้หนี้เจ้าหนี้ต่างชาติ
ลูคาเชนโก เคยกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2546 โดยว่าการปกครองแบบเผด็จการคือสไตล์ของเขา นอกจากนี้เขายังเคยตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหลายครั้งหลายครา ล่าสุดคือกรณีการรับมือระบาดโควิด-19 ที่แม้ทั่วยุโรปจะเข้มงวดในมาตรการคุมระบาด แต่ลูคาเชนโกกลับแนะนำให้ต่อสู้กับไวรัสนี้ด้วยการทำงานหนัก อบซาวน่า และดื่มวอดก้า เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 ลูคาเชนโก เคยกล่าวถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) ว่า "เป็นเผด็จการดีกว่าเป็นเกย์"