ไม่พบผลการค้นหา
บริบทของคลองไม่ได้มีดีเพียงแค่รองรับสิ่งปฏิกูล ‘ธนบุรีมีคลอง’ โครงการรวบรวมต้นทุนคุณค่า ในความหมายต่างๆ ของคลองย่านธนบุรี จากมุมมองอันหลากหลาย จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่าง ‘เมือง’ กับ ‘คลอง’ เพื่อมองหาอนาคตที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

ช่วงบ่ายของเดือนเมษายน ณ สถาบันอาศรมศิลป์ แสงแดดแรงกล้ากำลังทำหน้าที่อย่างหนักหน่วง เคียงคู่สายลมอ่อนกำลัง แต่นั่นกลับไม่สามารถทำลายความตั้งใจของ คุ้ง - ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ อาจารย์จากสถาบันอาศรมศิลป์ เจ้าของโครงการ ‘ธนบุรีมีคลอง’ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เมือง’ กับ ‘คลอง’ ให้ได้ฟัง โดยเขาเริ่มต้นด้วยการเท้าความตำนานของคลอง และกรุงเทพฯ ว่า

“คลองถูกใช้งานมานานมากแล้วในกรุงเทพฯ และมีมาก่อนสมัยรัตนโกสินทร์เสียอีก คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ หรือคลองชักพระ คือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ซึ่งเป็นทางสัญจร เป็นเส้นเลือด เป็นหัวใจของเมืองมาตลอด

“จนกระทั่งวันหนึ่งที่เมืองเปลี่ยนไปเป็นเมืองทางบกด้วยการหันมาใช้รถยนต์ คลองเลยถูกลดความสำคัญลง พื้นที่ริมคลองเลยกลายเป็นพื้นที่ตาบอดอยู่ด้านหลัง”

ธนบุรีมีคลอง 5.jpg
  • คุ้ง - ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ อาจารย์จากอาศรมศิลป์ ผู้ริเริ่มโครงการธนบุรีมีคลอง

ปัจจุบัน แม้สภาพคูคลองบางแห่งในเขตกรุงเทพฯ จะดูไม่น่าอภิรมย์นัก เพราะมักเต็มปริ่มด้วยน้ำเน่าเสีย หรือขยะนานาชนิดลอยเท้งเต้งเคียงคู่กับผักตบชวา แต่อาจารย์คุ้งแนะว่า ทุกคนควรมองบริบทของคลองให้หลากหลายกว่านั้น ที่สำคัญคือ คลองถือเป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญของกรุงเทพฯ เมืองที่กำลังขาดแคลนพื้นที่สีเขียวอย่างเห็นได้ชัด 

“คลองมีประโยชน์หลากอย่าง ข้อแรกคือ เป็นพื้นที่รับน้ำ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำที่น้ำทะเลท่วมถึง ดังนั้นปฏิเสธคลองไม่ได้ ถ้าจะอยู่อย่างกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศน์ การกลมกลืนกับคลองคือคำตอบ 

มนุษย์ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ถ้าเมืองของเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ก็จะเป็นทางออกที่ยั่งยืน และสร้างสรรค์ ซึ่งหนึ่งในคำตอบก็คือ คลองที่เป็นพื้นที่สีเขียว ตอนนี้พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีการสำรวจออกมา 2 ตัวเลขคือ มีพื้นที่สีเขียวจำนวน 3 และ 6 ตรม./คน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานมาก”


บางประทุน’ เหมือนประทุนได้อุ่นจิต 

ก่อนจะแล่นเรือออกเดินทางหาข้อเสนอแนะ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของคลองที่มีต่อวิถีชีวิตมากขึ้น ทีมงานได้ไปทำความรู้จักกับ แอ๊ว - สัมพันธ์ มีบรรจง ปราชญ์ชาวบ้านแห่งคลองบางประทุน ที่นอกจากครอบครัวแล้ว อีกสิ่งหนึ่งในชีวิตที่เขาผูกพันมากสุดคงจะหนีไม่พ้นคลอง ซึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาถึง 64 ปี 

ธนบุรีมีคลอง 4.jpg
  • แอ๊ว - สัมพันธ์ มีบรรจง ปราชญ์ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองบางประทุนตั้งแต่กำเนิด

อาแอ๊วเล่าถึงความเป็นมาของคลองบางประทุนว่า เป็นคลองระบายน้ำจากคลองภาษีเจริญมาออกคลองสนามชัย ชาวบ้านที่นี่พึ่งพาคลองมาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการสัญจร การอุปโภค หรือนำไปเลี้ยงแหล่งทำกินอย่างพืชผลทางการเกษตร ซึ่งอุดมสมบูรณ์มาตลอด จนสุนทรภู่เคยกล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของคลองบางประทุนไว้ว่า 

บางประทุนเหมือนประทุนได้อุ่นจิต พอป้องปิดเป็นหลังคานิจจาเอ๋ย หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย พิงเขนยนอนอุ่นประทุนบัง - นิราศเมืองเพชร

น้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะน้ำท่าไม่รอใคร

ในอดีต สาเหตุสำคัญที่พื้นที่ตรงนี้ต้องพึ่งพาอาศัยคลองคือ น้ำประปาเข้าไม่ถึง ทุกบ้านต้องอาศัยน้ำจากคลองทั้งหมด ตักไปแกว่งสารส้มให้ตกตะกอน ซึ่งเรียกกันเองว่า ‘น้ำท่า’ เพราะตักมาจากท่าน้ำ ส่วนน้ำดื่มอาแอ๊วบอกว่า ต้องรอฝนจากเทวดา

“ก่อนหน้าฝนเราจะสังเกตเห็นน้ำนมวัว น้ำจากเหนือไหลลงมาที่ภาคกลางมีลักษณะเป็นตะกอนแดงๆ เหมือนดินลูกรัง ใกล้จะเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง (ยิ้ม) ทีนี้น้ำท่วมแบบในอดีตมันไม่ได้สร้างความเสียหาย เพราะเราตั้งรับได้ ท่วมแป๊ปเดียวก็ไหลลงทะเลหมด ประโยชน์ของน้ำท่วมแบบนั้นคือ พัดดินตะกอนมาเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ประกอบกับใต้ดินของที่นี่น้ำทะเลเข้าถึงทำให้ผลไม้มีรสหวาน เหมือนตัดน้ำกะทิให้กลมกล่อมด้วยเกลือนั่นแหละ คือที่มาของแหล่งปลูกส้มเขียวหวานที่ดังสุดคือ ส้มบางมด”


ธนบุรีมีคลอง 13.jpgธนบุรีมีคลอง 14.jpg
  • ชาวบางประทุนจำนวนมากยังใช้เรือในการสัญจรและค้าขาย

จากวัยเด็กล่วงเลยมาจนวัยเกษียณ จนเพื่อนพ้องน้องพี่พากันเรียกขานปราชญ์ชาวบ้านแห่งคลองบางประทุนว่า ‘อาแอ๊ว’ บริบทของคลองก็เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก และไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร อาแอ๊วกล่าวด้วยเสียงไม่สู้ดีนักเมื่อถามถึงทางเลือกของการสัญจรในปัจจุบัน พร้อมชี้ให้เห็นข้อดีของการขนส่งทางเรือความว่า

“การขนส่งทางเรือเป็นการขนส่งที่ประหยัดสุด ลดต้นทุนมากสุด มีมลภาวะน้อยสุด ลองมาก็ขนส่งทางราง ทางถนนเป็นการขนส่งที่สิ้นเปลือง และเห็นแก่ตัวมากสุด ถามว่าที่เรารถติดกันเนี่ยเพราะอะไร เพราะทุกคนซื้อรถส่วนตัวไม่ใช้บริการสาธารณะ การบริการของภาครัฐที่เป็นขนส่งมวลชนหรือขนส่งสาธารณะบริหารได้ไม่ทั่วถึง”

ถ้าเขาหันกลับมาทางเรือจะเห็นว่า ธรรมชาติยังอยู่ สิ่งแวดล้อมยังอยู่ ถนนไม่มีสัตว์ชนิดไหนอาศัยได้ แต่ในน้ำอยู่ได้หมด - อาแอ๊ว
ธนบุรีมีคลอง 7.jpg
  • คลองมีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรที่บางประทุน


ธนบุรีมีคลอง 17.jpg
  • แม้ถนนจะตัดผ่าน แต่สถานที่สำคัญอย่างวัด สถานีตำรวจ หรือที่พักอาศัยยังคงมีท่าเรือไว้สำหรับผู้คนที่สัญจรทางน้ำเช่นเดิม

“วิถีเราไม่ทิ้งจากน้ำเลย อาบน้ำก็อาบน้ำคลอง ห้องน้ำก็คือคลอง สวนก็ต้องขุดคลอง เพื่อเอาน้ำเข้าไป เราทิ้งน้ำไม่ได้ขาดน้ำไม่ได้ พระก็ยังมาบิณฑบาตรทางน้ำ แม้แต่ไปรษณีย์ก็ยังส่งทางน้ำอยู่ เมืองชอบตัดถนนมันได้ความรวดเร็วทันใจ แต่มลภาวะเยอะ ส่วนของเราสโลว์ไลฟ์ (ยิ้ม)”


น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เมืองพึ่งคลอง และคลองต้องพึ่งเมือง

ย้อนกลับมาที่ฝั่งของอาจารย์คุ้ง เขาเพิ่มเติมว่าคลองคือ แหล่งอารยธรรมของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะเขตธนบุรี ที่มีชุมชน หรือวัดตั้งอยู่ริมคลองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันเข้มแข็งสำหรับเมือง

ธนบุรีมีคลอง 11.jpgธนบุรีมีคลอง 12.jpg
  • สมัยก่อนสะพานข้ามคลองบริเวณคลองสนามชัยที่เชื่อมต่อกับคลองบางประทุนจะเป็นสะพานไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคอนกรีตหมดแล้ว

เดิมทีอาจารย์คุ้งทำงานร่วมกับชุมชนเป็นจุดๆ แต่ต่อมาเห็นว่า คลองเป็นเครือข่ายที่กว้างใหญ่ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดความร่วมมือในระดับเมือง และมองไปถึงเครือข่ายสำคัญอย่างโลกออนไลน์ จึงเขียนโครงการเข้าไปเสนอยังสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในหัวข้อ ‘ธนบุรีคลองสร้างสรรค์’ เพราะอยากให้ธนบุรีเป็นต้นแบบของคลองที่สร้างสรรค์ และยั่งยืนไปกับเมือง ซึ่งต่อมาก็กลายเป็น ​​‘ธนบุรีมีคลอง’ ซึ่งเป้าหมายแบ่งออกเป็น 3 ข้อคือ 

  1. รวบรวมข้อมูลคลอง เป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคลอง เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักการระบายน้ำ สภาวัฒนธรรม หรือภาคประชาชน
  2. ให้ข้อมูลเรื่องคลอง สร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ และการมีอยู่ของคลองต่อส่วนรวม
  3. หาทางออกของคลองร่วมกัน เป็นพื้นที่ให้ชุมชนริมคลองละชุมชนเมืองหันหน้าเข้าหากัน เพื่ออกแบบการพัฒนาคลองอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน 

“การดูแลคลองไม่ใช่แค่เรื่องของชุมชนริมน้ำเพียงอย่างเดียว เวลาน้ำท่วมทีหนึ่งก็ท่วมทั้งเมือง ถ้าน้ำเน่ามันก็ส่งผลมาถึงเราเหมือนกัน หรือถ้าวันหนึ่งคลองตายไปรากทางวัฒนธรรมของเราก็หายไปด้วย ผมเชื่อว่าดีเอ็นเอของคนกรุงเทพฯ​ ผูกพันกับน้ำอยู่แล้ว ก็น่าจะจุดประกายให้ทำสิ่งดีๆ กับเมืองได้

เราเลยทำฐานข้อมูลออนไลน์ เพื่อให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน แล้วนำข้อมูลเหล่านี้ไปสื่อสารสร้างความรับรู้ต่อสังคมผ่านการทำสื่อต่างๆ ในเฟสบุ๊ก หรือทำกิจกรรมพาคนลงไปสัมผัสพื้นที่ดีๆ ริมคลอง เพื่อให้กลุ่มคนที่หลากหลายร่วมกันคิดว่า พื้นที่เหล่านี้หากอยากอยู่กับเมืองต่อไปในอนาคตหน้าตาของมันจะเป็นอย่างไร” 


เมื่อ ‘คน’ ไม่เห็น ‘คลอง’ 

ณ ริมคลองบางประทุนที่มีความกว้างประมาณ 4-6 เมตร อาแอ๊วนั่งสนทนากับเรา โดยมีวิถีชีวิตของผู้คนริมคลองเข้ามาทักทายเป็นระยะ เริ่มตั้งแต่เสียงน้ำกระทบตลิ่งของเรือขนส่งขนาดเล็ก เสียงมอเตอร์ของเรือรับซื้อของเก่าที่ผ่อนกำลังลง เพื่อเป็นมารยาทเมื่อต้องผ่านบริเวณที่มีคนอยู่อาศัย ไปจนถึงเสียงทักทายจากผู้ที่ใช้เรือสัญจรไปมา และบังเอิญพบคนคุ้นเคย ปราชญ์แห่งบางประทุนบอกว่า สาเหตุที่คนละแวกนี้ดูแลคลอง เพราะพวกเขารักคลอง ถ้าไม่มีคลองชาวบางประทุนก็อยู่ไม่ได้ เพราะชีวิตของพวกเขาอยู่กับคลอง 

วิถีน้ำกับต้นไม้ต้องอาศัยอยู่ด้วยกันขาดกันไม่ได้ มีต้นไม้แต่ไม่มีน้ำก็จบ น้ำที่ไหลคือน้ำที่มีชีวิต - อาแอ๊ว

“เราปลูกต้นไม้ก็ใช้น้ำคลอง ถ้าไม่มีน้ำประปาก็ใช้น้ำคลอง แต่พอความเจริญของเมืองเข้ามาถึงเราปล่อยน้ำเสียลงคลอง ตราบใดที่คุณต้องใช้น้ำคลองอยู่รับรองว่าคุณจะไม่ยอมทิ้งอะไรที่มันเน่าเสียลงคลอง คุณจะต้องลอยกระทงต้องไหว้แม่พระคงคา ถามว่าเป็นเพราะอะไร ก็เพราะคุณเห็นความสำคัญของคลอง แต่ถ้าไม่เห็นว่าสำคัญคลองก็คือ ท่อระบายน้ำ"

อาแอ๊วคือบุคคลท่านแรกที่อาจารย์คุ้งทำการสัมภาษณ์ลงในเพจธนบุรีมีคลอง โดยตั้งชื่อให้แคมเปญนี้ว่า ‘คน+คลอง’ เพื่อทำให้เห็นความสัมพันธ์ในวิถีชีวิตของ 2 สิ่งนี้มากขึ้น


ธนบุรีมีคลอง 15.jpg
  • เด็กๆ ใช้เวลาว่างช่วงเย็นไปกับการพักผ่อนริมคลองที่มีลมพัดผ่านตลอดเวลา และเต็มไปด้วยความร่มรื่นแม้จะอยู่ในเดือนเมษายน


ธนบุรีมีคลอง 16.jpg
  • กลุ่มวัยรุ่น-ผู้ใหญ่ ใช้พื้นที่ว่างริมคลองในการเล่นตะกร้อ

"ผมอยากจะเอาแง่มุมที่คนเอาชีวิตไปเติมให้กับคลอง แล้วคลองเกื้อหนุนชีวิตพวกเขาอย่างไรออกมาให้ทุกคนเห็น ถ้าคลองจะอยู่กับเมืองต่อไปได้ในอนาคต ความเห็นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ อาจจะทำให้เกิดเป็นภาพฝันร่วมของเมืองขึ้นมา มันอาจจะเปลี่ยนไปด้วยภาพหวังของเราหลายๆ คน" อาจารย์คุ้งอธิบาย

สถานการณ์ ‘น้ำท่าวันนี้’

เมื่อต้องการเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคลอง อาจารย์คุ้งจึงออกแคมเปญเชื้อเชิญเหล่านักสืบคลองมารายงานสถานการณ์ของคลองในแต่ละวันโดยตั้งชื่อว่า ‘น้ำท่าวันนี้’ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ริมคลองส่งต่อข้อมูลมาอย่างยังส่วนกลางว่าช่วงเวลาไหนน้ำมีคุณภาพดีหรือไม่ดีอย่างไรบ้าง ซึ่งผลการรายงานสร้างความประหลาดใจไม่น้อยเนื่องจากมีอัตราน้ำเน่าเสียอยู่เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น



ธนบุรีมีคลอง 9.jpg
  • ข้อมูลที่รายงานเข้ามาในแต่ละวันจะถูกรวบรวมเป็นฐานข้อมูลสุขภาพคลอง เพื่อนำไปทำเป็นแผนที่แสดงสุขภาพน้ำในคลองต่อไป

“ส่วนใหญ่คุณภาพน้ำที่รายงานเข้ามาจะอยู่ในระดับปานกลาง - ค่อนข้างดี ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจมากเมื่อคนที่บ้านอยู่ตรงนั้นเขาบอกเราว่าน้ำไม่ได้เน่าอย่างที่คิด ถ้าข้อมูลเหล่านี้ถูกพิมพ์ลงไปในแผนที่ผมรู้สึกว่ามันจะเปลี่ยนทัศนคติของคนเมืองต่อคลองได้”

เราอยากเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมต่อพลังเล็กๆ เหล่านี้ ให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนใหญ่ระดับเมืองขึ้นมา - อาจารย์คุ้ง

ผู้สอนแห่งสถาบันอาศรมศิลป์เล่าความฝันของตัวเองให้ฟังต่อว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ฐานข้อมูลพร้อมแล้วทราบว่าช่วงเวลาไหนของปีที่สภาพน้ำในคลองจะดี ก็จะเริ่มไปพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่ริมคลองว่า ถ้าอยากนำต้นทุนที่มีอยู่อย่างคลอง มาให้คนในเมืองได้ใช้ประโยชน์ และชาวบ้านได้ประโยชน์ร่วมกัน และช่วยกันคิดว่าจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน

“ถ้าพื้นที่นั้นมีการทำเกษตรอินทรีย์เราอาจจะทำเป็นเวิร์คช็อปอาหารออร์แกนิกที่ชวนเชฟลงไปทำอาหารร่วมกับชาวบ้าน นำความสร้างสรรค์ของคนในเมืองไปผนวกกับต้นทุนของพื้นที่ ซึ่งเจ้าของพื้นที่ได้ประโยชน์ร่วมกันกับผู้ที่มาใช้งาน ถ้าเราทำการทดสอบผ่านกิจกรรมมันก็จะบอกได้ว่าคนในเมืองกำลังโหยหาสิ่งใด และนำทางไปหาสิ่งใหม่ๆ”


ธนบุรีมีคลอง 10.jpg

ก่อนจะจบบทสนทนาใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ อาจารย์คุ้งบอกว่า การที่คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่ใช่กระแสแบบฉาบฉวย เขามั่นใจว่า สิ่งนี้คือสำนึกด้านบวกของมนุษย์ต่างหาก 

“เราไม่สนใจสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ผมรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นความจริงแท้ที่ฝังอยู่เบื้องลึกของเรา และเรียกร้องให้เราลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน” อาจารย์คุ้งทิ้งท้าย