การประชุมเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของชิลีเริ่มขึ้นเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อาจจะใช้เวลาในการร่างที่ยืดเยื้อออกไป โดยการถกประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญจะอยู่ภายใต้หัวข้อการแปรรูปให้การทำเหมืองอยู่ภายใต้การกำกับการของรัฐ การทำให้ชิลีมีสภาเดี่ยว สิทธิด้านน้ำ และการคุ้มครองพื้นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง รวมถึงประเด็นอื่นๆ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของชิลีคาดว่าจะสามารถร่างจนแล้วเสร็จ และเปิดให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่ในช่วง ก.ย. ของปีนี้ หลังจากที่ กาเบรียล บอริก ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ในวัยเพียงแค่ 36 ปี ผู้ซึ่งมีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายและเคยเป็นอดีตแกนนำนักศึกษาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีชิลี ซึ่งบอริกมีกำหนดการเข้ารับการสาบานตนในช่วงเดือน มี.ค.นี้ ประกาศว่าจะปฏิรูปประเทศตนเองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
การชนะการเลือกตั้งของบอริก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของชิลี นับตั้งแต่ปี 2533 ที่ชิลีเริ่มกลับมามีประชาธิปไตยอีกครั้ง นอกจากนี้ การชนะการเลือกตั้งของบอริกยังเป็นการโค่นล้มรัฐบาลชุดเก่าที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอีกด้วย
ประเด็นในการถกการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะลงไปให้ความสำคัญในรายละเอียดของสิทธิบนกรรมสิทธิที่ดินและผืนน้ำ ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และการปฏิบัติต่อแรงงานในประเทศ รวมถึงประเด็นสิทธิสัตว์ การศึกษาของผู้หญิง การปกป้องธรรมชาติ และการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย
ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 หรือ 103 เสียงจากสมาชิกสภาทั้งหมด และเมื่อผ่านกระบวนการลงคะแนนในสภาครั้งแรกแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนที่จะมีการลงคะแนนรอบที่สองเป็นรอบสุดท้าย หากการลงคะแนนครั้งที่สองถูกปฏิเสธ ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกนำกลับมาแก้ไขใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมวิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงจากทางฟากฝั่งอุตสาหกรรมของเอกชนภาคเหมืองแร่ในชิลีด้วยเช่นกัน
มาเรีย เอลิซา เควนเตรอส ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญชิลีระบุว่า ตนมีความกังวลในเรื่องการปล่อย “ข่าวปลอม” เพื่อโจมตีการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ช่วงต้นของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุอีกว่า ประชาชนที่ระบุว่าตนจะลงคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับมีอัตราที่ลดลง จากเดิมที่มีผู้จะรับร่างอยู่ที่ 56% แต่กลับตกลงไปเหลือที่ 47%
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของชิลีได้รับการเลือกตั้งมาเมื่อปีก่อน หลังจากที่ชิลีมีการประท้วงใหญ่ในช่วงปี 2562 จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งนี้ เสียงสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอิสระ ตลอดจนกลุ่มที่มีอุดมการณ์แบบฝ่ายซ้าย
หากรัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าผ่านมติของสภาแล้วสองครั้ง ตลอดจนได้รับการลงประชามติรับรองจากประชาชนให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญและมีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับก้าวหน้าดังกล่าวอาจทำให้ชิลีก้าวเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และสามารถโค่นล้มมรดกเผด็จการผ่านกระบวนการทางรัฐสภาได้อย่างเด็ดขาด
ที่มา: