สืบเนื่องจากกรณีสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงานและเครือข่ายเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการกำหนดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ เนื่องจากแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีแรก หรือแพทย์อินเทิร์นปี 1 ที่มีภาระงานถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ควงเวรติดต่อกันไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า และส่วนหนึ่งลาออกจากระบบราชการ
ในเดือนมิถุนายน 2565 แพทยสภาได้ออกประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนเรื่อง 'กรอบเวลาทำงานแพทย์ภาครัฐ' ไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทำงานฉุกเฉินไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมงติดต่อกันเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับปากจะแก้ไขเรื่องนี้ภายใน 3-6 เดือน เพราะพบว่ามีโรงพยาบาลที่แพทย์ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 65 แห่ง จาก 117 แห่งที่เป็นสถาบันฝึกเพิ่มพูนทักษะ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน สหภาพคนทำงาน และกลุ่ม Nurses Connect ได้เข้าทวงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาชั่วโมงการทำงานและค่าตอบแทนที่กระทรวงสาธารณสุข
สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนจากกลุ่ม Nurses Connect กล่าวภายหลังการหารือว่า การแก้ปัญหาของสธ.ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ กระทรวงแจ้งว่าได้ดำเนินการในส่วนของชั่วโมงการทำงานของแพทย์ Short-Term ไปแล้ว แต่ยังไม่เห็นข้อมูลจริงๆ จากแบบสำรวจ สธ. ระบุว่าตอนนี้ได้ทดลองใช้โรดแมปไปภาระงานของแพทย์ใช้ทุนปีแรกลดลง แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าลดลงอย่างไร ด้วยวิธีใด ทั้งที่มีจำนวนบุคลากรเท่าเดิม
สุวิมลกล่าวว่า สำหรับพยาบาลมีการวสำรวจชั่วโมงการทำงานเหมือนกัน โดยบางคนทำงาน 80-100 ชั่วโมงจริง แต่เมื่อหารเฉลี่ยก็อยู่ที่ 60 ชั่วโมง/สัปดาห์ในโรงพยาบาลที่ได้มีการสำรวจ แต่ในโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือโรงพยาบาลชุมชนที่มีบุคลากรน้อย ยังมีพยาบาลบางคนที่ต้องทำงานเกิน 80 ชั่วโมงอยู่ ทางกองการพยาบาลแจ้งว่า จะดำเนินการจัดตารางเวรให้มีการพักผ่อนเพียงพอสำหรับพยาบาล และเพิ่มแนวทางสร้างสิ่งแวดล้อมหรือนิเวศทัศน์ให้ดี เพื่อให้พยาบาลที่บ้านไกลสามารถพักผ่อนที่แผนกได้
ส่วนค่าตอบแทน ตามที่มีการประกาศปรับขึ้นค่าเวร 50% ค่าล่วงเวลาปรับเพิ่มขึ้น 8% ตอนนี้ยังดำเนินเรื่องอยู่ในกระทรวงการคลัง ทาง สธ. แจ้งว่า ตัวเลขที่ได้มาเป็นเงินบำรุงของทุกโรงพยาบาลในประเทศมารวมกัน แล้วหารเป็นค่าเฉลี่ยออกมาว่าปรับเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ โรงพยาบาลถึงจะไม่เดือดร้อนจึงได้เป็นตัวเลข 8% จาก 600 ก็จะเพิ่มเป็นแค่ 650 บาท ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์กับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน
"เมื่อเราถามไป ทาง สธ. บอกว่า การจะปรับขึ้นเงินอยู่กับสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลด้วย บางโรงพยาบาลอาจไม่ไหวหากเกิน 8% แต่ในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการจ่าย ก็อาจจ่ายให้เกินกว่านั้น หรือในโรงพยาบาลที่ได้รับเงินค่าเวรของรัฐบาลอยู่ที่ 700-800 อยู่แล้ว ก็อาจมีการเพิ่มจากนั้นได้ แต่ตัวประกาศบังคับใช้ก็ยังไม่มีออกมา ทาง สธ. แจ้งว่าจะไปติดตามต่อ" สุวิมลกล่าว
ตัวแทนจากกลุ่ม Nurse Connect กล่าวอีกว่า ผู้แทนของ สธ. จะค่อนข้างเห็นคล้ายกันว่า หากมีการกำหนดชั่วโมงวันทำงาน จะทำให้บุคลากรผู้บริการบางส่วนไม่พอใจ เพราะเขาจะได้เงินลดลง แต่โดนจำกัดชั่วโมงทำงาน
"เรามีมุมมองเรื่องนี้ในอีกมุมว่า ถ้าเงินค่าตอบแทนสูงพอ หรือเหมาะสมมากกว่านี้ คนจะยอมทำงานน้อยลงเอง เท่ากับว่าเราทำงานน้อยกว่า 80 ชั่วโมง แต่เราได้เงินเท่าเดิมหรือมากกว่า การสร้างมาตรฐานเช่นนี้จะสามารถดึงดูดคนที่อยู่นอกระบบกลับเข้ามาได้ด้วย"
"เราเสนอไปเรื่อง การเพิ่มเงิน คตส. หรือเงินค่าใบประกอบวิชาชีพ หรือค่าประสบการณ์ เช่น การดูแลวิกฤต ค่าความเชี่ยวชาญ เช่น การดูแลผู้ป่วยวิกฤต หรือการดูแลผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัด จะต้องใช้ความรู้ที่ค่อนข้างจำเพาะ เขาควรจะได้รับเงินเพิ่ม ผู้ปฏิบัติงานทำงานจนเหนื่อยล้า บางครั้งเราอาจเห็นหมอพยาบาลพูดไม่ดีกับผู้ป่วยที่มาตรวจ แต่อาจไม่มีใครรู้ว่าหมอคนนี้อาจไม่ได้นอนมา 48 ชั่วโมงแล้ว หรือพยาบาลคนนี้เพิ่งอยู่เวรดึกมา แต่ต้องมาช่วยอยู่ที่แผนกผู้ป่วยนอกต่อ ในเรื่องของสุขภสพ แน่นอนว่าการอดนอนไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพ ยิ่งเราทำงานในเวลาที่เราควรจะได้นอนก็ทำให้ร่างกายแปรปรวนหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์"
"การดูแลคนไข้เราก็ต้องทำหัตถการ บางครั้งยกตัวคนไข้ที่มีน้ำหนักเยอะ อาจปวดหลังได้ ในเรื่องอุบัติเหตุก็มีเหมือนกัน พยาบาลหรือแพทย์บางคนที่ลงเวรมาและขับรถกลับบ้านก็หลับในและเกิดอุบัติเหตุ เพราะอดนอนจากการทำงาน สำคัญที่สุดที่เรากลัวจึงต้องมาเรียกร้องเรื่องนี้ คือเรากลัวเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย ที่ต้องมารับบริการกับบุคลกากรที่ไม่พร้อมให้บริการ"
ทั้งนี้ เครือข่ายไม่ได้พบรัฐมนตรี เนื่องจากเไปปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ ส่วน นพ.ทวีสิน วิษณุโยธน รองปลัดกระทรวง ก็แจ้งว่าติดภารกิจไม่ได้มา มีตัวแทนแพทย์ตามกิจ แพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กองการพยาบาล และหน่วยงานอื่นๆ เข้ามารับเรื่องและพูดคุยปัญหาแทน