“Calamities threaten our world.” แปลว่า "ความหายนะมากมายคุกคามโลกของพวกเรา" และความหายนะเหล่านี้ก็มาได้ในหลายรูปแบบ รวมไปถึงความเข้าใจผิดระหว่างการโต้แย้งและการเถียงด้วย
ตอนซื้อหนังสือเล่มนี้ เราไม่ได้คาดหวังว่าเนื้อหาข้างในจะแตกต่างจากที่เราคิดขนาดนี้ แต่ก็รู้สึกขอบคุณตัวเองเหลือเกินที่ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้ เพราะหลังอ่านจบแล้วทุกครั้งที่เห็นหรือเดินผ่านหนังสือเล่มนี้ เราจะได้สติกลับมาและทบทวนตัวเองอีกครั้งว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือการโต้แย้งหรือก็แค่หาอะไรไปพูดให้เข้าทางตัวเองกันแน่
ความคิดเห็นเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่พวกคุณเองก็คงสบายใจกว่าในการอยู่กับคนที่คิดเห็นแบบเดียวกันถูกไหมหล่ะ หรือจะลองเถียงดูไหมว่าคุณใจกว้างกว่าที่เราบอก คุณเปิดใจรับฟังคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการเมือง งั้นลองนับดูไหม ว่าเพื่อนในเฟซบุ๊กของคุณมีกี่คนที่เห็นต่างจากคุณ หรือเพื่อนสนิทของคุณ หรือคุณมีความคิดว่า "ใครชอบคนนี้ (ไปเติมชื่อเอาเองตามใจชอบ) ลบเฟซบุ๊กฉันออกไปเลยก็ได้"
เอาเข้าจริง ถึงคุณจะใจแคบนิดหน่อยและคบกับคนที่มีความคิดไปในทำนองเดียวกัน มันก็ใช่เรื่องผิดอะไรหรอก เว้นก็แต่ว่า...
...ความเคยชินจากการรับสารหรือข้อมูลที่สนับสนุนความคิดของคุณ ยิ่งทำให้ตัวคุณออกห่างไปจากจุดศูนย์กลาง ถ้าเราสมมติให้จุดศูนย์กลางคือเส้นแห่งความเป็นกลาง (ถ้าความเป็นกลางมันมีในโลกนี้จริงๆ นะ) ขณะที่ฝ่ายที่มีความคิดตรงข้ามกับคุณก็จะถูกผลักให้ไปยืนอยู่ที่ปลายอีกข้างหนึ่ง แบบเอื้อมไม่ถึง แบบเขาคงอยู่ไกลกับเราเกินไป เกินกว่าจะ “มีสามัญสำนึก” เข้าใจความคิด “ที่ถ้าคนไม่โง่เกินไปหรือไม่ตาบอดเกินไป” มันต้องเข้าใจได้อยู่แล้ว
ปัญหาคือโลกมายืนในจุดนี้แล้ว จุดที่ต่างฝ่ายต่างมองว่าฝ่ายตรงข้าม ‘ไร้ปัญญา’ เพียงพอที่จะเข้าใจเหตุผลของเรา และตัวเราเองก็ “ไร้อารมณ์” มากเกินจะมานั่งสาธยายความถูกผิดหรือเหตุผลต่างๆ เพราะ “ผู้คนมากมายหยุดให้เหตุผลกับตัวเองและเที่ยวมองหาเหตุผลที่จะโต้เถียงกับฝ่ายตรงข้ามแทน แม้คนเหล่านี้จะให้เหตุผลหรือได้รับเหตุผลมา พวกเขาก็จะทำมันด้วยอคติและปราศจากการคิดวิเคราะห์ ดังนั้นพวกเขาจึงไม่เข้าใจทั้งเหตุผลของตัวเองหรือฝ่ายตรงข้าม”
การไม่แสดงเหตุผลสนับสนุนจุดยืนหรือแนวความคิดของตัวเองแต่กลับโยนความผิดให้ฝ่ายตรงข้ามว่าตามืดบอดเกินกว่าจะเข้าใจสิ่งที่เป็นสามัญสำนึกหรือเรื่องง่ายๆ แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงการทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญากว่าตนเองและเมื่ออีกฝ่ายตกอยู่ในสภาวะนั้นแล้ว คุณ ผู้แท้จริงแล้วอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเหตุผลของตัวเองคืออะไร ก็จะกลายเป็นผู้ชนะในการโต้เถียง เพราะแม้อีกฝ่ายจะให้เหตุผลมา แต่นั่นคือเหตุผลจากคนโง่นะ ไม่มีใครเขาฟังเหตุผลแบบนั้นกันหรอก
ลักษณะการโต้เถียงแบบนี้ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ เพื่อน 2 คน ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน แต่สิ่งเหล่านี้แทรกซึมออกไปยังประชาชนที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายที่เห็นได้ชัด
ในหนังสือเล่มนี้อ้างอิงข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันและเดโมแครตในช่วงเวลาหลายสิบปี ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความคิดเห็นที่เคยแตกต่างกันแต่ยังอยู่บนความสามารถในการรับฟังข้อโต้แย้งของฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นทัศนคติแห่งความเกลียดชังและถึงขนาดมองว่าฝ่ายตรงข้าม “ถูกชักจูงแบบผิดๆ จนส่งผลให้อาจคุกคามคุณภาพของประเทศได้”
เท่านั้นยังไม่พอ ฝั่งนักการเมืองที่ควรจะโต้กันด้วยเหตุและผล ก็หันหลังให้กลยุทธ์เหล่านั้น และแทนที่ด้วยการสาดเสียเทเสียใส่กัน และเมื่อสังคมเดินมาถึงจุดนี้ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศชาติจะสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ในเมื่อคุณเกลียดฝั่งตรงข้ามเสียเหลือเกิน เกินกว่าจะอยากเสวนาด้วยซ้ำ มันจะไปหาข้อตกลงร่วมกันได้ยังไง
หากว่าพวกคุณยังเข้าใจไม่เต็มที่ ปรากฎการณ์ดังกล่าว ไม่ได้จำกัดแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น เบร็กซิต ก็ใช่ ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปกับการขัดแย้งในการเปิดรับผู้ลี้ภัย หรือแม้แต่ประเทศไทยก็หนีไม่พ้นเพราะหยิบประเด็นไหนขึ้นมาก็สร้างความแตกแยกได้ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็น (อะแฮ่ม) ความชื่นชอบเรื่องตัวบุคคล หรือการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในปัจจุบันว่าควรจะต้องทำอย่างไรดี จะปิดประเทศเลยดีไหม หรือจะไล่คนจีนกลับ ขณะที่อีกด้านก็ออกมาบอกว่า เศรษฐกิจจะพังอยู่แล้วถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวจีน ไทยตายแน่
หนังสือเล่มนี้ ไม่มีสักบรรทัดที่เขียนห้ามไม่ให้ผู้คนถกเถียงกัน เปล่าเลย ผู้เขียนแท้จริงแล้ว สนับสนุนให้คนเห็นต่าง ให้ถกเถียง แต่สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดภายใต้เงื่อนไขที่ถูกต้อง เงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายเปิดใจรับฟังเหตุผลของกันและกัน เพราะการมองต่างมุมย่อมนำมาซึ่งแนวคิดใหม่ ขณะเดียวกัน หนังสือยังชี้ว่า เหตุการณ์ปัญหาหลากหลายในโลกเรา เกิดจากมนุษย์อยู่ดีๆ ก็เหมือนจะไร้ศักยภาพในการเปิดใจรับฟังฝ่ายตรงข้ามไปเสียแล้ว ซึ่งเหตุการณ์นี้คือหายนะที่แท้จริงของโลก
หากจะลองหันกลับมามองตัวเองสักครั้ง หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เราคงมีสังคมที่รับฟังกันและกันที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน