รศ.ดร.ภัทรสินี ภัทรโกศล ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งคิดค้นแอปพลิเคชัน “Lung Care” เปิดเผยถึงแอปพลิเคชันดังกล่าวว่า ลักษณะการทำงานเป็นการนำเข้าคลื่นเสียงและแปลงคลื่นเสียงให้เป็นค่าของปอด โดยนำไปเทียบกับค่ามาตรฐานทางการแพทย์ที่ได้จาก รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
“ที่มาของแอปพลิเคชันนี้มาจากตัวเองเป็นโรคหอบหืด ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์จะต้องมีการเป่าเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด (Peak Flow Meter) แต่ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ ส่วนกระบอกกระดาษที่เป็นอุปกรณ์ในการเป่าซึ่งใช้แล้วทิ้งทำให้สิ้นเปลือง ถ้ามีอุปกรณ์ที่ใช้งานได้เหมือนเครื่อง Peak Flow Meter สามารถพกติดตัวไปได้ตลอดเวลาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี” รศ.ดร.ภัทรสินี กล่าว
สำหรับขั้นตอนการทำแอปพลิเคชัน เริ่มจากการเขียนโปรแกรมทดลอง จนได้เป็นสมการที่มีการแปลงคลื่นเสียงออกมาเป็นสเกลเทียบเท่ากับตัวลมที่เป่าด้วยเครื่อง Peak Flow Meter โดยนำแนวคิดทางคอมพิวเตอร์และทางสถิติมาใช้ด้วย จากนั้นได้ทำการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 37 คน พบว่ามีความแม่นยำถึง 97.6% ถือว่าน่าพอใจมาก ในการทดสอบคุณภาพปอดจะเทียบกับค่ามาตรฐานตามเพศ อายุ และส่วนสูง เมื่อมีการเก็บข้อมูลระยะหนึ่ง หากมีการเปลี่ยนแปลงค่าความจุปอดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แอปพลิเคชันจะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป
“คนที่สูบบุหรี่จัด ทำงานก่อสร้าง โรงงานปูน หรือผู้ที่ทำงานกับฝุ่น ควรมีแอปตัวนี้ไว้คอยตรวจสอบปอด เพราะจะเป็นตัวบอกว่าปอดของคุณมีสถานะเป็นอย่างไร” รศ.ดร.ภัทรสินี กล่าว
สำหรับวิธีการใช้งานแอปพลิเคชั่น Lung Care ก็แสนง่าย เพียงเป่าที่ Small Talk ในโทรศัพท์มือถือวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือถุงลมตีบ ถ้าเป่า 3 วันติดต่อกันแล้วค่าที่แสดงออกมาต่ำก็ควรไปพบแพทย์ทันที สำหรับผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวก็สามารถใช้เพื่อตรวจสอบปอดได้เช่นกัน
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แอปพลิเคชันนี้สามารถตรวจสอบในเบื้องต้นได้ว่าปอดเราถูกทำลายหรือไม่ พื้นที่ปอดมีมากน้อยเพียงใด แต่ปอดจะติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่นั้นไม่สามารถบอกได้ จะต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดต่อไป
“แนะนำผู้ใช้แอปพลิเคชั่น ให้เป่าตรวจสอบปอดของตนเองทุกวัน ไม่ใช่เป่าแล้วเห็นว่าค่าที่ได้ออกมาอยู่ในเกณฑ์ดีแล้วลบแอปทิ้งไป สิ่งที่ได้คือสุขภาพของเราเอง เราทุกคนมีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว อย่าละเลยสุขภาพ ก่อนที่จะสายเกินแก้” รศ.ดร.ภัทรสินี กล่าว
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “Lung Care” ได้ที่ Play Store บนโทรศัพท์มือถือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line: @Lung Care และ Facebook : https://www.facebook.com/lungcarecheck