ไม่พบผลการค้นหา
สถิติผู้ซื้อปืนในวันศุกร์หลังเทศกาลขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีจำนวนมากกว่า 2 แสนคน ทั้งยังเป็นช่วงเดียวกับที่กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งปรับปรุงระบบตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืนเพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมด้วยอาวุธปืนอีกด้วย

นโยบายส่งเสริมการขาย 'วันแบล็กฟรายเดย์' หรือวันศุกร์หลังเทศกาลขอบคุณพระเจ้าของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกระตุ้นการบริโภคสินค้าอย่างหนักที่สุดก่อนถึงเดือนธันวาคม และปีนี้สถิติผู้ที่ซื้อปืนในวันแบล็กฟรายเดย์เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีก่อนนับหมื่นคน โดยสำนักงานตรวจสอบประวัติผู้ซื้ออาวุธปืน (NICS) บ่งชี้ว่า บริษัทห้างร้านทั่วประเทศยื่นเอกสารขอตรวจสอบประวัติผู้ซื้อปืนถึง 203,086 คนช่วงแบล็กฟรายเดย์เพียงวันเดียว ขณะที่สถิติช่วง 2 ปีก่อนหน้า อยู่ที่ 185,713 คน และ 185,345 คนตามลำดับ

แถลงการณ์ของ NICS ระบุว่า จำนวนปืนที่ซื้อจริงอาจมีมากกว่าจำนวนผู้ถูกตรวจสอบประวัติ เพราะผู้ซื้อรายหนึ่งอาจซื้อปืนมากกว่า 1 กระบอก และอาจซื้ออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วย

สถิติผู้ซื้อปืนที่เพิ่มขึ้นในวันแบล็กฟรายเดย์เกิดขึ้นเพียง 2 วันหลังจากที่นายเจฟ เซสชันส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ สั่งให้สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ร่วมกับสำนักงานอัยการแห่งชาติสหรัฐฯ พิจารณาทบทวนและปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลผู้มีประวัติทางจิตหรือผู้มีประวัติการก่อเหตุในคดีอาญา เนื่องจากบุคคลทั้งสองกลุ่มอยู่ในข่ายที่ต้องห้ามซื้อปืน แต่ที่ผ่านมาพบว่าระบบเก็บข้อมูลยังไม่รัดกุม ส่งผลให้การตรวจสอบประวัติผู้ต้องการซื้อปืนไม่มีความถูกต้องแม่นยำเพียงพอ

France Milipol_Rata.jpg

คำสั่งของกระทรวงยุติธรรมเกิดขึ้นหลังจาก เดวิน พี. เคลลีย์ อดีตนาวิกโยธินผู้ก่อเหตุกราดยิงสังหารหมู่ชาวคริสต์ 26 รายในโบสถ์ของเมืองซัทเธอร์แลนด์สปริงส์ในมลรัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน สามารถซื้ออาวุธปืนเพิ่มเติมได้ 4 กระบอก รวมถึงปืนสงคราม ทั้งที่เขาเคยถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทำร้ายร่างกายภรรยาและทำให้ลูกเลี้ยงกระโหลกศีรษะร้าวเมื่อปี 2012 เนื่องจากศาลทหารไม่ได้บันทึกข้อมูลประวัติทางคดีอาญาของเขาในระบบของ NICS

เรื่องนี้ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเหตุกราดยิงที่เท็กซัสเกิดขึ้นเพียง 1 เดือนหลังจากเหตุกราดยิงงานคอนเสิร์ตที่นครลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 59 ราย รวมมือปืนผู้ก่อเหตุ

สถิติอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนในสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2017 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 55,651 คดี มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14,036 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 28,581 ราย ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด รวมถึงเด็กทารกและเด็กอายุไม่เกิน 11 ปีทั้งหมด 669 คน ขณะที่สถิติการใช้ปืนป้องกันตัวอยู่ที่ 1,834 ครั้งเท่านั้น สูสีกับสถิติการยิงปืนโดยไม่ได้ตั้งใจ 1,832 ครั้ง ทำให้มีการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมากกว่านี้

Holiday Shopping Blac_Rata.jpg

อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการถือครองปืนอย่างเหนียวแน่นในสหรัฐฯ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตอาวุธปืนในสหรัฐฯ ซึ่งมีรายได้เมื่อปีที่ผ่านมารวมกันกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมอาวุธปืนเสียภาษีให้แก่รัฐบาลสหรัฐฯ กว่า 123 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,059 ล้านบาท ทำให้การถกเถียงว่าควรจะควบคุมอาวุธปืนหรือไม่ เป็นประเด็นที่ทำให้คนอเมริกันขัดแย้งกันอย่างหนักประเด็นหนึ่ง โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับการถือครองปืนมักจะอ้างสิทธิในรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่าพลเมืองอเมริกันมีสิทธิในการถือครองปืนเพื่อป้องกันตัว 

ขณะที่ฝ่ายต่อต้านระบุว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วที่มีสถิติผู้เสียชีวิตจากปืนมากที่สุด อาชญากรรมจากอาวุธปืนก็เพิ่มจำนวนขึ้น เช่นเดียวกับสถิติผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืน จึงควรขับเคลื่อนให้เกิดการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับปืนอย่างจริงจัง

ด้านแชนนอน วัตส์ ผู้ก่อตั้งองค์กรสนับสนุนการควบคุมปืนในสหรัฐฯ Moms Demand Action for Gun Sense เผยแพร่บทความในเว็บไซต์ เดอะการ์เดียน ว่า ในระหว่างที่สังคมอเมริกันยังไม่สามารถยุติข้อถกเถียงเรื่องการควบคุมปืนได้ ก็จำเป็นจะต้องปรับปรุงระบบการเก็บข้อมูลประวัติของผู้เคยก่ออาชญากรรมหรือมีอาการทางจิตที่เข้มงวดและทันสมัยมากขึ้น และควรห้ามจำหน่ายอุปกรณ์อื่นๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของปืนด้วย เช่น ควรห้ามขายที่เก็บเสียงหรือตัวเร่งจำนวนการยิงกระสุนปืน เพราะในกรณีที่มีการก่อเหตุกราดยิง เสียงปืนที่ดังจะทำให้คนรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

เรียบเรียงโดย ตติกานต์ เดชชพงศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เผยโฉมหน้ามือปืนยิงโบสถ์เท็กซัสตาย 26 ราย

เหตุกราดยิงลาสเวกัส ตายเพิ่มเป็น 50 ราย-ตร.ตามตัวผู้ต้องสงสัยอีก 1

'ปืน' คร่าชีวิตชาวอเมริกันมากกว่าสงครามและก่อการร้าย