ศาสตราจารย์ ซี ไมเคิล ไวท์ จากมหาวิทยาลัยคอนเน็กติกัตของสหรัฐฯ เรียกร้องให้สำนักงานอาหารและยา (FDA) รวมถึงรัฐบาลกลาง ส่งเสริมการศึกษาวิจัยสรรพคุณทางยาและผลข้างเคียงของพืชกระท่อม เพื่อใช้เป็นยาระงับปวดแทนกลุ่มยาที่มีส่วนผสมของสารโอปิออยด์ เช่น มอร์ฟีน เมทาโดน เฟนทานิล และบิวพรีนอร์ฟีน ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพราะเสพยาเกินขนาดประมาณ 42,000 รายในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายปราบปรามยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ทำให้มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีแล้ว 162 รายทั่วประเทศ รวมถึงแพทย์ ผู้บริหารบริษัท และตัวแทนบริษัทยาที่ร่วมกันออกใบสั่งยาให้แก่ผู้เสพติดยาระงับปวดกลุ่มดังกล่าว โดยผู้ถูกจับกุมถูกตั้งข้อหาแตกต่างกันไป รวมถึงทุจริตงบประมาณรัฐและใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ
การปราบปรามยากลุ่มโอปิออยด์ส่งผลให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสหรัฐฯ พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะการเข้าถึงยาระงับปวดเป็นไปได้ยากขึ้น และผู้ป่วยหลายรายประสบความทุกข์ทรมาน ทำให้นักวิทยาศาสตร์และนักเคมีหลายกลุ่มในสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการศึกษาวิจัยตัวยาทดแทน และ 'พืชกระท่อม' เป็นหนึ่งในทางเลือกที่หลายฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม เพราะเป็นพืชตามธรรมชาติ และพบผู้ใช้พืชกระท่อมอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและไทย
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเอฟดีเอของสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามซื้อขายหรือปลูกพืชกระท่อมตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หลังพบว่าใบกระท่อมนำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามาในสหรัฐฯ ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย 'ซาลโมเนลลา' ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีผู้ล้มป่วยและเสียชีวิตทั่วสหรัฐฯ ประมาณ 44 ราย
ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็มีการเคลื่อนไหวจากกลุ่มนักวิชาการ เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนให้ถอนพืชกระท่อมและกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเช่นกัน โดยให้ความเห็นว่าพืชทั้งสองชนิดมีศักยภาพที่ใช้เป็นยา รวมถึงสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ตาม กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ระบุว่า พืชกระท่อมมีสารเสพติดชื่อว่า 'ไมทราไจนีน' (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารจำพวกแอลคาลอยด์ มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เมื่อเสพแล้วจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทำให้สามารถทำงานได้นาน แต่จะมีอาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก นอนไม่หลับ ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทําให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน
ที่มา: FDA/ Inverse/ The Hill/ Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: