ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกรัฐมนตรี เผยว่าทางการไทยจับ 2 ใน 4 สมาชิกไอเอสที่หลบหนีได้แล้ว รวมถึงผู้มีสัญชาติไทย แต่ยืนยันว่ายังไม่มีรายงานไอเอสตั้งสาขาในไทย

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงกรณีทางการมาเลเซียตามล่าผู้ต้องสงสัย 4 คนที่วางแผนโจมตีศาสนสถานในนครยะโฮบารู รัฐยะโฮร์ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธไอเอสในตะวันออกกลาง โดยมีรายงานว่าผู้ต้องสงสัย 1 ใน 4 คน เป็นชายสัญชาติไทยจากจังหวัดนราธิวาส

ปรากฏว่าทางการไทยจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 2 คนแล้ว รวมบุคคลที่มีสัญชาติไทย และยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ากลุ่มไอเอสมาตั้งสาขาในประเทศไทย แต่ทราบว่ามีความพยายามตั้งสาขาในทุกประเทศ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของไทยก็มีการป้องกันอยู่แล้ว

โดยก่อนหน้านี้สื่อประเทศมาเลเซียรายงานว่าทางการมาเลเซียได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธไอเอส พบเบาะแสเตรียมวางแผนโจมตีในพื้นที่รัฐยะโฮร์ และมีการเปิดเผยชื่อหนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่หลบหนี คือ นายอะแว แวอียา สัญชาติไทยจาก จ.นราธิวาส 

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า ทางนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก ได้รับทราบเรื่องมาตั้งเริ่มแรกแล้ว และได้มีการสั่งการให้กองทัพได้มีการตรวจสอบ โดยพล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ให้หน่วยด้านการข่าวในพื้นที่เข้าตรวจสอบแล้ว พบว่าบุคคลที่ทางการมาเลเซียต้องการตัว คือ นายอาแว แวแอยา จริง แต่จากการตรวจสอบพฤติกรรมอย่างละเอียดในเชิงลึกทั้งประวัติและพฤติกรรม พบว่าไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับไอเอสแต่อย่างใด แต่เป็นบุคคลที่ชอบคุยโม้โอ้อวด สร้างเครดิตกับตัวเอง ด้วยการพยามอ้างสรรพคุณของตัวเอง เพื่อให้เกิดการยอมรับในสื่อสังคมออนไลน์ จากการตรวจสอบเขาจะไม่ส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเลย เป็นคนที่ไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ซึ่งเรื่องนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้รายงานไปยัง ผบ.ทบ.แล้ว 

สำหรับการเรื่องเคลื่อนไหวของไอเอสในพื้นที่ นั้น ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวของกลุ่มไอเอส ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบปี 2547 เป็นต้นมา บุคคลที่ถูกฝ่ายความมั่นคงได้ออกหมายจับ นั้น ล้วนแต่เป็นคนไทย มีบัตรประชาชนเป็นคนไทยทั้งหมด ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น เป็นเรื่องภายใน ของประเทศไทย ที่เราใช้กฎหมายของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาคนที่ทำผิดกฎหมาย ไม่มีการตรวจพบกลุ่มบุคคลหรือบุคคล ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อย่างใด

เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว หน่วยความมั่นคงของไทยเคยมีคำสั่งคุมเข้มพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังมีกระแสข่าวว่ากลุ่มไอเอสเข้ามาในประเทศไทย ด้านโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่าไม่พบบุคคลดังกล่าว ทั้งยังพบมีกระแสข่าวเกิดขึ้นหลายครั้ง จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเพื่อความไม่ประมาท

ขณะที่สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) แถลงเตือนเมื่อปีที่แล้วเช่นกันว่า การก่อการร้ายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจะพุ่งสูงขึ้น เพราะกลุ่มไอเอสเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากพบว่ามีผู้สนับสนุนกลุ่มไอเอสในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยเพิ่มมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: