นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุเวทีเสวนาดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีอุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะประเด็นการศึกษาที่ใช้คำว่าเรียนฟรี 12 ปี ทำให้ไม่ครอบคลุมถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา จึงมีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.แก้ไขภายหลังให้เรียนฟรี 15 ปี
ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล กลับมีการใช้คำว่า “ผู้ยากไร้” ทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ แต่หากจะผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิก็อาจทำได้ยาก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก ซึ่งการแก้ไขจะเกิดขึ้นได้เมื่อสังคมเรียกร้องว่ามีปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ
ด้าน นางสาวแสงศิริ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในไทยระหว่างกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำสุดและสูงสุดมีถึง 6เท่า ทั้งนี้ไม่ว่าคนรวยหรือคนจนต่างใช้ทรัพยากรร่วมกัน แต่โอกาสในการได้รับรัฐสวัสดิการกลับแตกต่างกัน
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัย สหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า รัฐสวัสดิการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ดังนั้นจะต้องอยู่บนเงื่อนไขเบื้องต้นคือความเป็นประชาธิปไตย โดยส่วนตัวก็ชื่นชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะทำให้เข้าถึงได้จริงและเปลี่ยนความหมายของรัฐสวัสดิการในไทยได้