ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายสุขภาพ 4 ภาค ยื่นหนังสือจี้ สธ.ยุติการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ตามหาบุคคลที่อยู่เบื้องหลังทุบทำลาย สสส. เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนสินค้าทำลายสุขภาพ เตรียมยื่นเรื่องถึงนายกฯ หากยังไม่มีความคืบหน้า

​วันนี้( 29 ตุลาคม) เวลา 10.00 น. ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายเจกะพันธ์  พรหมมงคล ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ภาคใต้ (ขสช.) นำตัวแทนเครือข่าย จาก 4 ภาค กว่า 100 คน ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร เพื่อแสดงจุดยืนขอให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ที่เครือข่ายพบว่ามีเจตนาลดทอนความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาช่วยภาครัฐในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ด้วยการจำกัดวงเงินเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนทำลายสุขภาพ ประเคนอำนาจจากกรรมการบอร์ด ให้ต้องนำไปผ่านความเห็นชอบของ กระทรวงการคลัง ทำให้กระบวนการทำงานต่างๆที่เคยคล่องตัว ปิดจุดอ่อนของระบบราชการในการเข้าถึงประชาชน ถอยหลังกลับไปอยู่ใต้ระบบราชการ ขัดแย้งกับกฎบัตรออตตาวา ตลอดจนขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติในหลายมิติอย่างชัดเจน ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “หยุดทำลาย หลักการสร้างนำซ่อม”

นายเจกะพันธ์ กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้แก้ไขพระราชบัญญัติการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 เพื่อความยั่งยืน โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ สวนทางกับโจทย์ความยั่งยืนตามดำริของนายกฯ ด้วยการกำหนดให้มีการนำระบบราชการเข้ามาบริหารจัดการกองทุน สสส. ตลอดจนการจำกัดเพดานเงิน โดยเร่งรีบให้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติอย่างมีข้อกังขา

นายเจกะพันธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ขสช. ประกอบด้วยกลุ่ม องค์กร บุคคล ในส่วนของภาคประชาชน ด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้บริโภค คนจนเมืองและชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ ได้ประชุมร่วมกันทั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 8 -26 ตุลาคม 2561 มีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขกฎหมาย สสส. เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุน สสส. อยู่ภายใต้ระบบราชการ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ จึงมีจุดยืนร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมาย สสส. ครั้งนี้ อีกทั้งเห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องเร่งรีบดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้ หากจะมีการปรับแก้ไขกฎหมายกองทุน สสส. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น สมควรดำเนินการในขณะที่ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

“ขสช. พร้อมภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาค มีจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อกระทรวงการสาธารณสุข คือ ขอให้ยุติกระบวนการการแก้ไขกฎหมาย สสส. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นหน่วยงานร่วมแก้กฎหมายฉบับนี้ ส่งข้อเรียกร้องนี้ ไปยังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และขอให้กระทรวงมีคำตอบกลับมายัง ขสช. ภายในวันที่18 พฤศจิกายนนี้  และในระหว่างนี้เครือข่ายทั่วประเทศจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ด้วย  ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าในการยุติการแก้กฎหมายดังกล่าว ทางภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาคจะร่วมกันยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป”  ผู้ประสานงาน ขสช.ภาคใต้ กล่าว

ด้านนางสมควร งูพิมาย ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ภาคอีสาน กล่าวว่า ตนในฐานะที่สูญเสียลูกชายจากคนเมาแล้วขับ  และได้ลุกขึ้นมาร่วมกับงานภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำงานช่วยเหลือเคสที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชนและชุมชนมากมาย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน  ก่อนที่จะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วย เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จึงรับไม่ได้ที่ทราบว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย สสส. ให้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งเป็นการทุบทำลายเจตนารมณ์ของการเกิดกองทุนนี้อย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้กิจกรรมต่างๆก็มีความยากลำบากอยู่พอสมควรแล้ว งานเอกสาร การตรวจสอบต่างๆก็ไม่น้อย ก็ยังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่หากใช้ระบบราชการมาจับ คงไม่มีใครอยากลุกขึ้นมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพอีก ในสัปดาห์หน้าตนและเครือข่ายเยาวชน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากสุรา จะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ด้วย