ไม่พบผลการค้นหา
เปิดตัวน้องใหม่ธุรกิจท่องเที่ยว 'ตุ๊กตุ๊ก พาส' ระดมทุนผ่าน ICO ใช้เงินดิจิทัลซื้อขายแลกเปลี่ยนบริการการท่องเที่ยว ผู้บริหารแจงบริษัทจดทะเบียนและปฏิบัติตามกฎ ก.ล.ต. ฮ่องกง เชื่อถือได้ ฟาก 'อดีตผู้ว่า ธปท.' ย้ำผลิตภัณฑ์เงินดิจิทัลหากไม่รู้ตื้นลึกหนาบางมีความเสี่ยง

นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเป็นธุรกิจให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว 3 ช่องทาง ได้แก่ ตู้บล็อกเชน (Blockchain Kiosk), เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ซึ่งที่ผ่านมา ได้ระดมทุนผ่าน ICO หรือ Initial Coin Offering ซึ่งในรอบพรีเซลเมื่อวันที่ 25 ม.ค.-13 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับดีมาก เพราะออกมาเพียง 1 ล้านเหรียญโทเคน 

ขณะที่ บริษัทวางแผงระดมทุนผ่าน ICO หรือ การเสนอขายดิจิทัลโทเคนบนเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อระดมทุนสำหรับการดำเนินกิจการทั้งสิ้น 1,000 ล้านโทเคน แบ่งเสนอขายให้นักลงทุนทั่วไป 70% ในอัตรา 1 โทเคน ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเสนอขายทั้งหมด 10 รอบ รอบละ 70 ล้านโทเคน ซึ่งการระดมทุนผ่าน ICO รอบแรกจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ก.พ. - 30 มิ.ย. โดยผู้ลงทุนจะได้รับเหรียญ TTPC (Tuk Tuk Pass Coin) ซึ่งจะเป็นสิทธิให้นักลงทุนได้รับโทเคนเพื่อนำไปใช้จ่ายในการรับบริการของตุ๊กตุ๊กพาสแทนเงินสดได้อีกทอดหนึ่ง 

ส่วนบริษัท จะนำโทเคนหรือเงินดิจิทัลที่ได้รับจากการระดมทุนครั้งแรกนี้ ไปเปิดตัวแพลตฟอร์มการให้บริการของ ตุ๊กตุ๊กพาสใน 10 เมือง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งคาดว่าจะครอบคลุมการให้บริการและเข้าถึงนักท่องเที่ยวกว่า 109.92 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และคาดว่าจะขยายครอบคลุม 100 ประเทศ ภายในปี 2565 เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยว 45% ของทั้งโลก หรือประมาณ 555 ล้านคน เป็นโอกาสให้ธุรกิจต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม นางสาวปรางพิสุทธิ์ ให้ความเห็นถึงความกังวลของฝ่ายกำกับดูแลทั้งตลาดทุนและตลาดเงินของไทย ในกรณีขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ไม่ให้รับแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอเรนซี ว่า อันดับแรก บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด จดทะเบียนในฮ่องกง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ในฮ่องกงแล้ว โดยผ่านการให้คำปรึกษาของสำนักงานทนายความ HWB ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องกังวลกับข้อบังคับจากทางการไทย

"ไอซีโอเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง คือ ด้านหนึ่งเปิดทางให้คนมาหลอกลวงเอาเงินประชาชนไป แต่อีกด้านจะสนับสนุนคนที่มีไอเดียแล้วสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เพราะมีไอซีโอ ดังนั้น คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจลงทุนผ่านไอซีโอ คือให้ดูที่ทีมงาน โครงการ และคณะที่ปรึกษาของโครงการนั้นๆ ด้วย" นางสาวปรางพิสุทธิ์กล่าว  

รางพิสุทธิ์ แดงเดช ซีอีโอ ตุ๊กตุ๊กพาส

(ปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด)

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเหรียญโทเคน บริษัทได้จับมือกับบริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นนัล ออกแคช การ์ด ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ได้รับ TTPC ที่ได้รับจะเข้ามาในวอลเลต หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และผู้ลงทุนก็สามารถแปลงเหรียญนี้เข้าไปในบัตรที่บริษัทจับมือทำกับวีซ่า ซึ่งจะทำให้มีเงินดิจิทัลในบัตรแล้วนำไปใช้จ่ายชำระเงินซื้อบริการต่างๆ ของที่บริษัทมีให้ได้ 

ทั้งนี้ ตุ๊กต๊ก พาส เป็นธุรกิจท่องเที่ยวแห่งแรกที่เปิดระดมทุนผ่าน ICO และออกนโยบาย Token call Option ทำให้นักลงทุนในรอบแรก มีสิทธิ์ซื้อเหรียญในรอบต่อๆ ไปในราคาเดิม (ราคารอบแรก) ไม่ถูกปรับราคาขายตามมูลค่าของโทเคนในตลาด และได้รับผลตอบแทนเป็นค่าประมวลเน็ตเวิร์กที่เกิดจากธุรกิจบนแพลตฟอร์มของตุ๊กตุ๊กพาส ซึ่งจะจัดสรรให้ทุกไตรมาส 4 ของทุกปี ในรูปแบบเหรียญ TTP-C และนักลงทุนสามารถนำไปใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มของตุ๊กตุ๊กพาส ลดปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศได้

นอกจากนี้ ตุ๊กตุ๊ก พาส ยังมีเป้าหมายเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับธุรกิจในท้องถิ่นผ่านระบบ API (Application Programming Interface) เพื่อให้ผู้ใช้มีความสะดวกในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว (Seamless User Experience) และทำให้ธุรกิจในท้องถิ่นได้รับลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มให้นักท่องเที่ยวได้รับประโยชน์จากชุมชนการท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างคอมมูนิตี้เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยว เช่น เปิดให้นักท่องเที่ยว บุคคลทั่วไป (ไม่ใช่นักลงทุน) เข้ามาเขียนรีวิวได้ ก็จะได้รับคะแนนเป็นเหรียญโทเคนใช้แลกบร��การการท่องเที่ยวสำหรับการเดินทางครั้งต่อไปได้

อดีตผู้ว่า ธปท. ชี้ 4 ความเสี่ยงผลิตภัณฑ์เงินดิจิทัล 

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการลงทุนในเงินสกุลดิจิทัลว่า ประชาชนต้องแยกแยะระหว่างการพัฒนาทางเทคโนโลยีการเงิน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในส่วนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัล โดยส่วนตัวแล้ว ตนไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ในลักษณะคริปโตเคอเรนซีที่มีลักษณะเหมือนกับบิทคอยน์ เพราะอาจจะทำให้เกิดกรณีที่คนเข้าไปลงทุนที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง เกิดความเสียหายได้

อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ มีความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความเสี่ยงในการที่ไม่รู้ว่ามีอะไรเป็นสินทรัพย์หนุนหลัง 2) โครงสร้างการบริหารว่าใครเป็นผู้ถือครองหรือจัดการอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง 3) ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มการจัดการสกุลเงินดิจิทัล และ 4) การบริหารจัดการทางการเงินของสกุลเงินนั้นๆ 

ดังนั้น กรณีที่ ธปท.ได้ออกหนังสือเตือนไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ไปยุ่งเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลถือว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ถูกต้องแล้ว เพราะสถาบันการเงินต้องดูแลรับผิดชอบเงินฝากของประชาชนจำนวนมากและเกี่ยวข้องกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม จึงยังไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเงินดิจิทัล