ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค รณรงค์ให้ประชาชนบริโภคเกลือ-โซเดียมในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ หลังพบคนไทยได้รับโซเดียมสูงกว่าปกติ 2 เท่า

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ความเค็มคือรสชาติที่เกิดจากเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ ร่างกายได้รับโซเดียมผ่านทางการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกาย คือ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ผลการสำรวจของกรมอนามัย พบว่าคนไทยได้รับโซเดียม โดยเฉลี่ยสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้กว่า 2 เท่า ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิต ซึ่งหากจำกัดโซเดียมในอาหารได้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน จะลดระดับความดันโลหิตตัวบนลดลง 2-8 มิลลิเมตรปรอท และลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น

ปัจจุบันประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพเน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพน้อยลง มีแนวโน้มในการซื้ออาหารมารับประทานเองและซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น สำหรับกรณีที่จะมีการเก็บภาษีความเค็มนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยมุ่งเป้าจัดการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูง ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการได้รับโซเดียม ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 

โดยข้อมูลจากแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีอาหารและ เครื่องปรุงรสที่มีความเค็มเกินเกณฑ์ ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการเกือบครึ่งปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ โดยลดหรือเลิกใช้เกลือ เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้ประชาชนบริโภคเกลือลดลงได้ในที่สุด

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายลดเค็มได้จัดตั้งกลไกการดำเนินงานระดับชาติ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พร้อมจัดทำยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทยแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2559 มีกลยุทธ์หนึ่งคือการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิด การผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงอาหาร ที่ปริมาณโซเดียมต่ำและตั้งเป้าให้ประชากรไทยลดการบริโภคโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2568


ข่าวที่เกี่ยวข้อง