ไม่พบผลการค้นหา
ในอดีต น้อยคนนักจะมองย่านประวัติศาสตร์อย่าง ‘เจริญกรุง-คลองสาน’ ว่าเป็นย่านสร้างสรรค์ และพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งที่มิติทางกายภาพของย่านเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจัง

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ‘มาร์คัส เวสต์เบอรี (Marcus Westbury)’ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Creating Cities’ เคยเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อนำประสบการณ์เกี่ยวกับการฟื้นฟูเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์มาถ่ายทอดให้คนไทยได้ฟัง โดยเขาอธิบายความคิด กลยุทธ์ และวิธีการลองผิดลองถูกที่เกิดขึ้น ณ เมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ทิ้งร้างให้กลับมามีชีวิตชีวา และสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ช่วยให้หลายคนกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

วิธีการแก้ไขปัญหาแบบมาร์คัสก็คือ การตระเวนออกสำรวจพื้นที่แทบทุกซอกทุกมุม และกลับมาทำเรื่องขอยืมอาคารเก่าที่ไร้การเหลียวแลจากเจ้าของ เพื่อให้บรรดานักออกแบบยืมไปประกอบธุรกิจจากความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นออริจินัล ซึ่งต่อมาได้ทำให้ถนนสายหลักของเมืองคึกคักไปด้วยคาเฟ่ แกลเลอรี และร้านศิลปหัตถกรรม

เช่นเดียวกับย่าน ‘เจริญกรุง-คลองสาน’ ในปัจจุบันที่กำลังแปรสภาพจากย่านเมืองเก่าอันเงียบเหงาเป็นพื้นที่เชิงวัฒนธรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจิ๊กซอว์ตัวสำคัญคือ การเกิดขึ้นของ ‘The Jam Factory’ ย่านตลาดคลองสาน เมื่อ 3 ปีก่อน ต่อด้วยบ้านหลังใหม่ของ ‘TCDC’ ที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ตามมาติด ๆ กับแหล่งแฮงก์เอ้าท์ใหม่ชื่อ ‘Warehouse 30’ ในซอยเจริญกรุง 30 ตบท้ายด้วยโครงการ ‘Long 1919’ มรดกของตระกูลหวั่งหลี

ต้องยอมรับว่า ทั้งหมดล้วนมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และส่งผลให้สภาพแวดล้อมของย่านเจริญกรุง-คลองสาน เอื้อต่อการบ่มเพาะนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ โดยตลอด 2 ปีผ่านมา กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาคือ 'ครีเอทีฟ ดิสทริกต์ (Creative District)' นำโดย ดวงฤทธิ์ บุนนาค และสมาชิกอีก 5 คน ได้แก่ อตินุช ตันติวิท, เชน สุวิกะปกรณ์กุล, ถนั่น ลีลาวณิชกุล, เดวิด โรบินสัน, และนพดล วีรกิตติ ซึ่งคำถามใหญ่ของหลายคนอยู่ตรงที่ ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์’ คืออะไร

“อยากให้ทุกคนชัดเจนก่อนว่า ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์’ ไม่ได้พูดแค่เรื่องการออกแบบ หรือความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่เป็นการที่ทุกคนมาสร้างสรรค์ชุมชนร่วมกัน ซึ่งเป็นความตั้งใจหลักของครีเอทีฟ ดิสทริกต์ วิธีการทำงานคือ ให้ทุกคนในชุมชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ผูดขาดกับมูลนิธิฯ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องเป็นเรื่องของทุกคนในชุมชนที่เป็นบริบทของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา” ดวงฤทธิ์อธิบาย

IMG_478111.jpg

ปัจจุบัน ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์’ กินพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือ ย่านบางรัก และคลองสาน ซึ่งมีชุมชนเข้มแข็งในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตาม ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์’ ไม่ได้มีขอบเขตตายตัว ทำให้ในอนาคตอาจขยายพื้นที่มากขึ้นไปกว่า 2 ย่านดังกล่าวก็ได้

ล่าสุด ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์’ ได้จดทะเบียนเป็น ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์ ฟาวน์เดชัน (Creative District Foundation)’ หรือ ‘มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์’ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการอยู่ประมาณ 1 ปี ก่อนจะสำเร็จลุล่วงตามกฎหมาย ณ วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีดวงฤทธิ์เป็นประธานมูลนิธิฯ เพื่อผลักดันชุมชนให้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเปิดให้ชุมชนเสนอโครงการที่ต้องการ

“หลักการมีอยู่ว่า ทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเขตบางรัก และคลองสาน ถือเป็นหัวใจของชุมชนสร้างสรรค์ มูลนิธิฯ จะทำหน้าที่สนับสนุนให้โครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเกิดขึ้นจริง และเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงประชาชนเข้ากับภาครัฐ หรือเอกชนที่ต้องการสนับสนุนโครงการ” ประธานมูลนิธิฯ กล่าวเสริม

IMG_4781.jpg

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์’ และ ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์ ฟาวน์เดชัน’ เปิดประตูบานใหม่ด้วยการจัด ‘ทาวน์ ฮอลล์ มีตติ้ง’ เป็นครั้งแรก โดยตั้งใจจะจัดเป็นประจำทุก 2 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนในชุมชนมีพื้นที่แลกเปลี่ยน และแสดงความคิดเห็นร่วมกันในการนำเสนอโครงการต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหมือนกระบวนการขับเคลื่อนฉันทามติ ก่อนมูลนิธิฯ จะรับโครงการไปหาผู้สนับสนุนต่อไป

อย่างไรก็ตาม โครงการที่ ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์ ฟาวน์เดชัน’ แนะนำแก่คนในชุมชนแบ่งออกเป็น 6 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ ศิลปะ ดิจิทัลดีไซน์ ผู้คน สิ่งปลูกสร้าง การวางแผนเมือง และอาหาร

นพดล วีรกิตติ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้คนในชุมชนว่า “ทั้ง 6 หัวข้อเป็นเพียงตัวอย่างที่มูลนิธิฯ พยายามนำเสนอชุมชนให้เห็นภาพเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถนำเสนอไอเดียอื่น ๆ ได้ด้วยในทาวน์ ฮอลล์ มีตติ้ง”

IMG_47811.jpg

นอกจากนั้น ปัจจุบันมูลนิธิฯ ยังทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร และพยายามทำให้พื้นที่ที่เรียกว่า ‘ครีเอทีฟ ดิสทริกต์’ ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ขณะเดียวกัน ยังเล็งเห็นความสำคัญของการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น การยกเว้นภาษีบางส่วนแก่การดำเนินธุรกิจในย่านสร้างสรรค์

“เป้าหมายของมูลนิธิฯ คือการเห็นเมืองดีขึ้น เห็นความเจริญ เห็นการมีส่วนร่วมของชุมชน และเป็นเมืองที่น่าอยู่” ดวงฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย


ภาพเปิดจาก The Revival of District