นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้ติดใจ หรือเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่ายเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายอีกครั้ง ขณะเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. แนะนำให้ สนช. พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลของ ร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งต่อไปของกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน เนื่องจากบทบัญญัติในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการยกเว้นให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีลักษณะต้องห้าม คือ เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระมาก่อนยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ โดยเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เด็ดขาดว่าสามารถกำหนดการยกเว้นลักษณะต้องห้ามได้หรือไม่
นายพรเพชร ชี้แจงว่า การจะเสนอร่างกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ดำเนินการได้ 2 วิธี ได้แก่ 1.การให้สมาชิกสนช.เข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 2.นายกรัฐมนตรี เสนอไปให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง แต่ส่วนตัวในฐานะประธาน สนช. ไม่สามารถไปดำเนินการเพื่อบอกกล่าวแก่สมาชิก สนช. ได้ เนื่องจากเป็นอิสระและดุลพินิจของสมาชิก สนช. และหากในอนาคตมีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจริง ตนคิดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยได้ โดยไม่ได้มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ประการใด
ขณะเดียวกัน สนช. ยังจะต้องรอความคิดเห็นอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช. อีกครั้งก่อน ซึ่งจะมีกำหนดสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เคยให้ข่าวว่าไม่เห็นแย้งเช่นกัน จึงคาดว่าจะไม่มีการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้อีก และหาก ป.ป.ช.ไม่มีหนังสือกลับมาภายในวันนี้ หรือไม่เห็นแย้งจริง สนช.ก็จะยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ในนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป