ไม่พบผลการค้นหา
กว่า 'ลุงตู่' จะวางมัดจำ 'เนวิน' ด้วยงบประมาณร่วม 2 หมื่นล้านบาทได้ 'ของต่อรอง' ต้องมีน้ำหนักมากพอ นั่นคือ บารมีในการ 'นำ' บุรีรัมย์ วันนี้เนวิน ไม่ใช่ 'นักการเมืองเลวในระบอบรัฐสภา' แต่เป็น 'นักพัฒนาท้องถิ่นที่หาตัวจับได้ยาก' ไม่ใช่แค่พัฒนาเมือง แต่งานวิจัย ชี้ กว่าจะมัดใจคนบุรีรัมย์ได้ เนวินต้องทำอีกหลายอย่าง ติดตามได้ในบทความชิ้นนี้

ฉากที่ ‘เนวิน’ บัญชาให้ ‘ชาวบุรีรัมย์’ มากกว่าสามหมื่นคนที่สนามฟุตบอลช้างอารีน่า ส่งเสียงเชียร์ว่า “ลุงตู่สู้ๆ” และทนแดดแรงจัด เพื่อแลกงบหมื่นล้าน ยังติดตาตรึงใจมาจนถึงบัดนี้ รุ่นน้องท่านหนึ่งของผม ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพแบบนี้ ยากที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเขาเอง 

เมื่อย้อนคิดถึงประโยคนี้ ก็นึกถึง จังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดของผม ซึ่ง ณ เวลานี้ คงไม่มี “ผู้นำทางการเมือง” คนใด จะสามารถระดมคน บัญชาคน ครองใจคน ได้อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” 

ทุกครั้งที่นั่งอ่านวิจัย/วิทยานิพนธ์ ที่อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ ‘ผู้นำทางการเมือง’ คนหนึ่ง สามารถครองใจคนในจังหวัดนั้นๆได้ ถือเป็นของน่าตื่นตาตื่นใจอย่างมาก เพราะปัจจัยที่ทำให้สามารถครองใจคนได้ในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

เปิดวิจัย สร้าง บรรหารบุรี-คุณปลื้มบุรี

หนังสือของโยชิโนริ นิชิซากิ, Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-buri (Cornell Southeast Asia Program Publications, 2011; สิทธิอำนาจทางการเมืองกับเอกลักษณ์จังหวัดในประเทศไทย: การสร้างบรรหารบุรี อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ เอกลักษณ์จังหวัดแบบบรรหารบุรีก่อตัวขึ้นมาได้ เช่น เป็นผลจากบรรหารทั้งบริจาคเงินอย่างใจกว้าง เอางบหลวงมาลง รวมถึง มีเครือข่ายลูกน้องบริวารช่วยทำกิจกรรมโฆษณาอย่างคึกโครมกว้างขวาง ผู้สนใจโปรดอ่านบทความของ เกษียร เตชะพีระสองชิ้น คือ “อำนาจแห่งเอกลักษณ์: ลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรี” และ “บรรหารบุรีใต้ร่มพระบารมี” ซึ่งวิจารณ์หนังสือของโยชิโนริได้แหลมคมครบถ้วน

วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ของชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในชื่อ บทบาทของสโมสรชลบุรี เอฟซี (Chonburi Football Club) ในการรักษาและสร้างฐานเสียงทางการเมืองของกลุ่ม “เรารักชลบุรี” อธิบายปรากฏการณ์ที่สโมสรฟุตบอลในภูมิภาคซึ่งดำเนินการโดยนักการเมืองท้องถิ่น ตระกูลคุณปลื้มได้กลายเป็นตัวแสดงตัวใหม่ในเวทีการเมืองท้องถิ่น เป็นตัวเชื่อมให้ผู้เลือกตั้งในฐานะแฟนบอลได้เจอกับนักการเมืองที่มีบทบาทเป็นผู้บริหารสโมสร จนส่งผลให้ฐานแฟนคลับฟุตบอลแปรผันเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง

งานของ ชาลินี มีความร่วมสมัย และทำให้เห็นการเติบโตของ สมาชิกตระกูลคุณปลื้มในเจนเนเรชั่นที่สอง ขณะที่งานศึกษา “คุณปลื้มบุรี” ก่อนหน้านั้นที่แหลมคม และรุ่มรวยด้วยข้อมูลจากการสัมภาษณ์กำนันเป๊าะเอง คืองานของเวียงรัฐ เนติโพธิ์, “จากนักเลงท้องถิ่นสู่เจ้าพ่อ”,วารสารธรรมศาสตร์ 22,2 (2539) : 6-49. ซึ่งอธิบายความชอบธรรมของ กำนันเป๊าะ หรือนายสมชาย คุณปลื้ม ตำนานบทๆแรกของเจ้าพ่อสมัยใหม่ในเมืองไทย ซึ่งได้รับความนิยมในพื้นที่ เพราะศักยภาพในการเล่นบท ‘การเป็นผู้ปกป้อง’ ตั้งตนเป็นใหญ่ในระบบการคุ้มครองในชลบุรี โดยการควบคุมธุรกิจที่สำคัญ มีพรรคพวก/มีเครือข่ายมาก ใช้ความรุนแรงรักษาอำนาจของตน รวมถึงการเป็นคนกลางทั้งระหว่างชาวบ้านกับข้าราชการ และชาวบ้านกับนักการเมือง 

เวียงรัฐเสนอว่า ปัจจัยที่ทำให้ ‘เจ้าพ่อ’ สามารถเรืองอำนาจได้ก็เพราะ “ระบบราชการจำเป็นต้องพึ่งพิงอำนาจท้องถิ่นแบบนักเลง และความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการนี้เองที่ทำให้นักเลงท้องถิ่นพัฒนาตัวเองได้จนเป็นเจ้าพ่อในปัจจุบัน” ดูเหมือนข้อเสนอของเวียงรัฐยังคงมีน้ำหนักมาก แม้จะถูกคิดและเสนอไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว นั่นก็เป็นเพราะ ระบบราชการของไทยยังคงขาดประสิทธิภาพ ชะตากรรมของท้องถิ่น จึงถูกฝากไว้กับนักการเมือง หรือ เจ้าพ่อในพื้นที่ ถ้าเจ้าพ่อคนใด สามารถเข้าไป “คิด-สร้าง-ลงมือทำ-นำ” ระบบราชการได้ เจ้าพ่อคนนั้นก็จะเรืองอำนาจในพื้นที่  บทพิสูจน์จาก “บรรหาร-คุณปลื้ม-ชิดชอบ” เป็นตัวอย่างที่ดี

ทั้งสามตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างของ “เจ้าพ่อ เดินนำ รัฐ(ราชการ)” ในแง่นี้รัฐราชการที่ได้ข้าราชการไร้ประสิทธิภาพมากขึ้นเท่าไหร่ อย่างที่ปรากฏผ่านข่าวสารการทุจริตในปัจจุบัน กระทั่งเบ่งอำนาจใส่ประชาชนมากเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นการเพิ่มพูนอำนาจบารมีให้กับเจ้าพ่อในพื้นที่มากขึ้นเท่านั้น แต่เจ้าพ่อที่จะมีอำนาจเบ่งบานในช่วงเวลานี้ จะมีลักษณะเฉพาะอย่างมาก กล่าวคือ เป็น “เจ้าพ่อที่สามารถต่อรองกับระบอบเผด็จการได้-ความสัมพันธ์ระหว่าง ประยุทธ์ และเนวิน ฉากทางการเมืองที่บุรีรัมย์ ช่วยอธิบายถึงประโยคนี้ได้ดี”

ทั้งนี้ก็เพราะไม่ใช่เจ้าพ่อทุกคนที่ถูกคัดสรรให้เหลืออยู่รอดจนถึงปีท้ายๆ ของระบอบเผด็จการ สังเกตจาก ส.ส.ในพื้นที่หลายรายที่เสียงดังฟังชัดน้อยลงเรื่อยๆ ไม่กล้าขัดกับระบอบเผด็จการในเวลานี้ ต่อไปเจ้าพ่อที่เหลือรอด ก็คือเจ้าพ่อที่พร้อมให้ “ดูด” ได้ เล่นเป็น และอยู่เป็น กับระบอบการปกครองในเวลานี้ แต่ถ้าอยู่ไม่เป็น ก็อาจถูกข้อกฎหมาย ถูกเอาคดีสีเทาขึ้นมาขู่ขึ้นมาบีบให้ต้อง “เคียงข้าง” ในทางการเมือง

วิธีครองใจคนบุรีรัมย์ ฉบับเนวิน

“เนวิน” ยึดหลัก “บุรีรัมย์ต้องมาก่อน” ด้วยการ “พัฒนาเมือง” ผ่าน "กีฬา" เปลี่ยน “เมืองผ่าน” ​เป็น “เมืองพัก” เนรมิตบุรีรัมย์ ให้เป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” (Sport City) ระยะยาวคือ “เมืองสุขภาพแห่งเอเชีย” ที่มีทั้ง “สนามฟุตบอล-สนามแข่งรถ-adventure sport-water sport ครบวงจร” เนวิน ทำทั้งหมดนี้โดยเดินนำ “ภาครัฐ-ข้าราชการ” อาศัยซุปเปอร์คอนเนคชั่น ดึงงบทั้งจากรัฐและเอกชนมาสู่พื้นที่ หลังมีสนามฟุตบอล ในปี 2554 เศรษฐกิจในบุรีรัมย์ก็เปลี่ยนโฉม ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและภาคบริการ เติบโตแทน ภาคเกษตร ผุดธุรกิจเกิดใหม่ ทั้งโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานบันเทิง ตลาดนัด ถนนคนเดิน เพราะเปลี่ยนเมือง-สร้างเมืองใหม่ คนจึง “ศรัทธา”


อนุทิน เนวิน 31899994_1853771771350689_7077459552316162048_n.jpg

ฉากการบัญชาคนร่วมสามหมื่นคนของเนวิน ต้องการคำอธิบายมากกว่านี้ มากกว่าข้อเสนอเรื่องการพัฒนาเมืองเปลี่ยนโฉมบุรีรัมย์ ว่าฉากแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?  เนวิน“ทำ” สิ่งใดบ้าง กว่าจะสร้างฉากอันทรงพลังทางการเมืองนี้ได้ ขนาดที่หลายคนบอกว่า “ไม่ใช่เนวินที่ถูกดูด” แต่เป็น “ลุงตู่ ที่ถูกเนวิน ดูด” จนผ่านงบประมาณหลายหมื่นล้าน เพื่อ “มัดจำ” เนวินไว้ก่อน

วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ม. ขอนแก่น ของเมธากร เมตตา นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในชื่อ “กลยุทธ์และการเพิ่มมูลค่าของนักการเมืองท้องถิ่น: กรณีศึกษาสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ใช้ตอบคำถามนี้ได้แหลมคมทีเดียว โดยเฉพาะข้อเสนอสุดท้าย ว่า ปฏิบัติการทางกีฬาของเนวิน ไม่เพียงเป็นการสร้างฐานความนิยมในหมู่ผู้เลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดบทบาทของหัวคะแนนเดิมในท้องถิ่นอีกด้วย!!  

งานชิ้นนี้ ตั้งคำถามหลัก ถึง “วิธีการสร้างฐานอำนาจของนักการเมืองท้องถิ่นผ่านการจัดตั้งสโมสรฟุตบอลในจังหวัดบุรีรัมย์” ใช้หลักฐานที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิงลึกประชาชนในบุรีรัมย์ ทั้งที่เป็น แฟนบอล สื่อมวลชนท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ผู้บริหารสโมสร โดยเฉพาะ “กรุณา ชิดชอบ” ภริยาของเนวิน ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์คนปัจจุบัน

งานของ “เมธากร” เสนอว่า แต่เดิม “หัวคะแนนท้องถิ่น” จะมีบทบาทอย่างมากในฐานะ “ตัวกลาง” เชื่อมต่อระหว่าง นักการเมืองท้องถิ่นกับประชาชนในท้องถิ่น แต่การสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของเนวิน ผ่านสโมสรฟุตบอล ส่งผลให้เกิดการลดบทบาทของหัวคะแนนท้องถิ่นไปโดยปริยาย โดยพบว่า หัวคะแนนจะมีบทบาทเป็นพิเศษเฉพาะใน “ช่วงต้นของการจัดตั้งสโมสร” เท่านั้น โดยทำหน้าที่ในการ “ระดม” ประชาชนในท้องถิ่นเข้าชมและเชียร์ฟุตบอล เมธากรใช้บทสัมภาษณ์จำนวนหนึ่งเป็นหลักฐานว่า การระดมคนในช่วงแรกดำเนินไปได้ เพราะ “การใช้อำนาจแข็งเชิงอิทธิพล (Strong Power) ต่อประชาชนและเครือข่ายของตนในการระดมสมาชิกแต่เมื่อ บุรีรัมย์ยูไนเต็ดคว้าชัยชนะอย่างสม่ำเสมอ ผูกติดกับความเป็นท้องถิ่นนิยมเข้าไป จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ก็ทำให้ประชาชนชาวบุรีรัมย์เข้าร่วมชมและเชียร์โดยสมัครใจ ไม่ผ่านการระดมของหัวคะแนน

เช่น บทสัมภาษณ์ของนาย A ซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่น เป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลแห่งหนึ่งในบุรีรัมย์ กล่าวว่า “ตนในฐานะที่เป็นตัวแทนในการจัดหาคน เกณฑ์คนในพื้นที่ไปเชียร์สโมสรบุรีรัมย์ฯ เวลาที่มีการแข่งขันในบ้าน โดยทุกนัดที่ลงแข่งในบ้าน จะต้องหาคนให้ได้ตามจำนวนที่ ส.ส.ในพื้นที่ต้องการ สาเหตุที่ ส.ส.ต้องจัดหาคนไปเชียร์สโมสรทุกครั้ง เพื่อเป็นการเอาใจนายใหญ่ (นายเนวิน)”

สอดคล้องกับอีกเสียงหนึ่งซึ่งเป็น พนักงาน อปท.แห่งหนึ่งที่บอกว่า “ในช่วงปี 52-53 สมัยที่ก่อตั้งสโมสรใหม่ๆ หัวคะแนน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. หรือครูในพื้นที่ จะเป็นคนทำหน้าที่ในการหาคนเข้าไปเป็นกองเชียร์ของสโมสรฯ โดยหัวคะแนนแต่ละคนจะต้องหาคนในหมู่บ้านมาให้ได้ตามจำนวนที่ได้รับมอบหมาย แล้วพามารวมตัวกันที่บ้าน ส.ส.ในพื้นที่นั้นๆ จากนั้นก็พาไปที่สนามแข่งขันโดยหัวคะแนนหรือคนที่พาชาวบ้านมาเชียร์นั้นจะได้รับค่าน้ำมันในการไปรับ-ส่งกองเชียร์ในวันที่มีการแข่งขันได้ด้วย” (น.56)

ส่วนเหตุที่นักการเมืองท้องถิ่นรายเล็กรายน้อย ยอมทำเช่นนี้ก็เพราะ “เพื่อที่นักการเมืองท้องถิ่นนั้นจะได้รับการสนับสนุนหรือส่งเสริมจากนายเนวิน ที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมในตัวนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดบุรีรัมย์” (น.57) ดังเห็นได้จากผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ในปี 2552 จำนวน 78 แห่ง ใน 21 อำเภอของบุรีรัมย์ พบว่า “ผู้สมัครกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากนายเนวิน กวาดที่นั่งได้กว่าร้อยละ 90” (น.78) ขณะที่ผลการเลือกตั้ง นายกฯและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

ขึ้นชื่อว่า “มัดใจ” คนบุรีรัมย์ได้ ไม่ใช่แค่ ใช้อำนาจแข็งเชิงอิทธิพลอย่างเดียว งานวิจัยเสนอชัดว่า อำนาจแข็งถูกใช้ในระยะต้นเท่านั้น ส่วนต่อมาเป็นการใช้อำนาจอ่อน ทั้งการสร้างแรงจูงใจ การชักจูง สำคัญคือการสร้างความภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นนิยมให้เกิดขึ้นจริง ไปจนถึงการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเนวิน จากนักการเมืองเลวในระบอบรัฐสภา เป็นนักพัฒนาท้องถิ่นในระดับที่ไม่มีนักการเมืองคนใดเคยทำมาก่อนในบุรีรัมย์

กว่าจะ “ดูดลุงตู่” วันนี้ได้ จึงผ่านการสั่งสมบารมีทางการเมืองในพื้นที่มาอย่างยาวนาน!!

วยาส
24Article
0Video
63Blog