ไม่พบผลการค้นหา
ราชบัณฑิตยสภาออกหนังสือประชาสัมพันธ์วิธีเขียนคำ "แซว", "คะ" , "ค่ะ" , "นะคะ" ยอมรับคำว่า "แซ็ว" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2554 เกิดจากปัญหาการพิสูจน์อักษรผิด

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออกประกาศชี้แจงว่าด้วยการใช้คำ "แซว", "คะ", "ค่ะ", และ "นะคะ" จากการพูดจาภาษาไทย นอกจากการเลือกใช้ถ้อยคำวาจาที่สุภาพสื่อความเข้าใจระหว่างกันได้ชัดเจนแล้ว ควรมีหางเสียงที่จะทำให้ถ้อยวาจาที่กล่าวออกไปดูนุ่มนวล น่าฟัง ทั้งหางเสียงหรือกระแสเสียงลงท้าย ยังแสดงหรือสะท้อนนิสัยอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดด้วย 

หากพูดจาไม่มีหางเสียงอาจทำให้ถ้อยวาจาที่กล่าวออกไปฟังดูห้วน กระด้าง และอาจระคายหูผู้ฟัง การพูดจาที่สุภาพนอกจากจะขึ้นอยู่กับการเลือกสรรถ้อยคำที่ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะแล้ว ควรใช้คำลงท้ายที่แสดงความสุภาพควบคู่ไปด้วยทั้งชายและหญิง เช่น ผู้ชายใช้คำลงท้ายที่แสดงความสุภาพว่า ครับ, นะครับ ผู้หญิงใช้ คะ,ค่ะ,นะคะ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การเขียนคำลงท้ายแสดงความสุภาพที่ผู้ชายใช้ไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่คำลงท้ายที่ผู้หญิงใช้ค่อนข้างสับสน เช่น "คะ" ไปใช้ว่า "ค๊ะ", "ค๋ะ" หรือสับสนในการใช้ "คะ" กับ "ค่ะ" เช่น "มาแล้วคะ", "กำลังอ่านหนังสืออยู่นะค่ะ", "ทำอะไรอยู่ค่ะ", ซึ่งที่ถูกต้องแล้วต้องใช้ว่า "มาแล้วค่ะ", "กำลังอ่านหนังสืออยู่นะคะ" หรือ "กำลังอ่านหนังสืออยู่ค่ะ" ,"ทำอะไรอยู่หรือคะ" เวลาเขียนจึงควรช่วยกันเขียนให้ถูกต้องด้วย โดยให้จำไว้เสมอว่ารูปเขียนที่ถูกต้องคือ “คะ”, “ค่ะ”, “นะคะ” (ไม่มี ค๊ะ, ไม่มี ค๋ะ, ไม่มี นะค่ะ)

'แซ็ว' ในพจนานุกรมฯ ปี 2554 'พิมพ์ผิด' ที่ถูกคือ 'แซว'

นอกจากนี้ ยังมีคำว่า “แซว” ที่มีผู้สงสัยอยู่ว่า ที่ถูกต้องควรเขียนว่า “แซว” หรือ “แซ็ว” นั้น อาจเป็นด้วยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เก็บคำว่า “แซว” ที่เป็นภาษาปากมีความหมายว่า “กระเซ้า” ไว้ และพิมพ์คำผิดเป็น “แซ็ว” จึงทำให้มีคำว่า “แซ็ว” ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฯ และทำให้เกิดข้อสงสัย

ทั้งนี้ ปัญหาจากการพิสูจน์อักษรผิดดังกล่าว สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในการจัดพิมพ์พจนานุกรมฯ ครั้งต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาหยอกล้อแซวกันเล่น ก็เขียนว่า “แซว” หรือจะเป็นแซววาที ก็เขียนว่า “แซว” รวมทั้ง “แซว” ในคำว่า แซงแซว (นกแซงแซว) ตลอดจน “แซว” ในคำว่า อีแซว (เพลงอีแซว) ก็เขียนว่า “แซว” ทั้งสิ้น