ไม่พบผลการค้นหา
ทีมแพทย์ฉุกเฉินคือแนวทางตั้งรับในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยต้องรอให้มีการแจ้งเหตุเข้ามาที่หน่วยบริการก่อน หลังจากนั้นทีมแพทย์และรถพยาบาลจึงออกไปช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยได้ แต่แนวทางแบบนี้หลายครั้งทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินไม่สามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาอุปกรณ์ติดตามตัวที่เรียกว่า 'สายรัดข้อมืออัจฉริยะ' ช่วยให้ทีมแพทย์ทำงาน 'เชิงรุก' มากขึ้น ไม่ต้องรอให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บแจ้งเหตุเข้ามาอีกต่อไป แถมยังช่วยให้ทำงานแข่งกับเวลาเพื่อรักษาวินาทีชีวิตของผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บได้มากขึ้นกว่าเดิม

กิจกมน ไมตรี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ผู้พัฒนาสายรัดข้อมืออัจฉริยะ บอกกับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า สายรัดข้อมืออัจฉริยะตัวนี้สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจและการอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือด รวมทั้งจำนวนก้าวเดิน ทำให้รู้แคลอรี่ที่เผาผลาญในแต่ละวันของผู้สวมใส่ได้ เหมาะกับผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือภาวะเรื้อรัง และผู้สูงอายุซึ่งสามารถตรวจวัดและประมวลผลได้ทันทีหรือแบบเรียลไทม์

กิจกมน.png

กิจกมน ไมตรี

สายรัดข้อมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ A-Live ที่ประกอบไปด้วยแอปพลิเคชั่นและสายรัดข้อมือ ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยตัวแอปพลิเคชั่นนั้นสามารถเก็บประวัติข้อมูลสุขภาพและการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย อย่างเช่น ฟิล์มเอ๊กซเรย์ ข้อมูลการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา ข้อมูลเกี่ยวกับประกันชีวิต ประกันสังคม บุคคลที่สามารถติดต่อในภาวะฉุกเฉิน ข้อมูลการใช้ยา การแพ้ยา และเมื่อถึงเวลาที่ต้องกินยา ระบบนี้ก็จะส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ทันที 

ทั้งสายรัดข้อมืออัจฉริยะและแอปพลิเคชั่น A-Live ทำงานเชื่อมโยงกับระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center) ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับช่วยทีมแพทย์ฉุกเฉิน บริหารจัดการช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ทันทีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบนี้สามารถใช้เรียกรถพยาบาลและส่งข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของผู้ป่วยไปยังหน่วยบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์และทีมแพทย์ได้ เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุรถชน ไฟช็อต หรืออาการช็อก 

AOC9.png

แอปพลิเคชัน A-live

โดยสายรัดข้อมืออัจฉริยะจะมี QR Code อยู่ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหมดสติและไม่สามารถบอกข้อมูลตัวเองให้กับผู้ช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่สูงอายุ 

“เจ้าหน้าที่กู้ชีพจะสแกนสายรัดข้อมือที่มี QR Code อันนั้นและสามารถดึงข้อมูลของผู้สวมใส่ได้ เราจะรู้ว่าเขาเป็นใคร รู้ว่าแพ้ยาอะไรอยู่ เป็นโรคอะไรอยู่ และสามารถติดต่อกับบุคคลฉุกเฉินได้อย่างไร อันนี้คือประโยชน์ที่ได้รับอย่างเห็นได้ชัดเจน และเมื่อเจ้าหน้าที่สแกน QR Code ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกส่งไปยังศูนย์สั่งการของระบบบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ช่วยให้ทีมแพทย์ประเมินการรักษาเบื้องต้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว” กิจกมนกล่าว

AOC12.jpg

สายรัดข้อมืออัจฉริยะ

นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวยังสามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อีกด้วย หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นกับคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ระบบก็จะส่งข้อความแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังสมาชิกครอบครัวคนอื่น แม้แต่กรณีที่สายรัดข้อมือของสมาชิกในครอบครัวถูกสแกน ซึ่งทำให้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สแกนสายรัดข้อมือและตำแหน่งของการสแกน 

“เราพัฒนาระบบทุกอย่างขึ้นมาเอง เราไม่ได้ไปอิงบน platform ที่มีอยู่แล้ว หรือบนฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลจะมีเฉพาะแอปพลิเคชั่นและคนที่เข้ารหัสข้อมูลไว้ เพราะฉะนั้นการเข้าถึงข้อมูลจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชั่นก็จะไม่สามารถเข้าถึงได้เลย” กิจกมนกล่าว

นอกจากนี้ หากมีการถ่ายภาพหน้าจอ (capture) ข้อมูลผู้ป่วยไว้ ระบบก็จะแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ทันทีและสามารถรู้ได้เลยว่าใครถ่ายภาพหน้าจอของผู้ป่วยคนนั้นไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการรั่วไหลข้อมูลเบื้องต้น

สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บในยามวิกฤตแล้ว นอกจากความรวดเร็วของทีมแพทย์ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา การส่งข้อมูลที่แม่นยำก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ทีมแพทย์สามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้ทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง