ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบัน เกษตรกรชาวอังกฤษต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนในการเก็บผลผลิตต่างๆ แต่หากถึงวันที่อังกฤษต้องออกจากอียูแล้ว ใครจะเป็นคนเก็บผลไม้ ในขณะที่ชาวอังกฤษเองก็ไม่ทำงานนี้

สำนักข่าวเดอะ วอชิงตัน โพสต์รายงานว่า เกษตรกรชาวอังกฤษรู้สึกกังวลว่าจะไม่มีคนเก็บผลไม้ เมื่อถึงวันที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือ อียู แล้ว โดยสหภาพเกษตรกรแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยว่า ปัจจุบัน อังกฤษต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติในการเก็บผักผลไม้ จากแรงงานในภาคเกษตรกรรมในฤดูเกี่ยวกับทั้งหมด 60,000 คน มีชาวอังกฤษอยู่ไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้น ขณะที่คนงานส่วนใหญ่มาจากยุโรปตะวันออก อย่างบัลแกเรียและโรมาเนีย

การที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกอียู หรือที่เรียกกันว่า เบร็กซิต หมายความว่า นโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างเสรีภายในอียูจะยกเลิกด้วย ซึ่งจะทำให้แรงงานเก็บผลไม้ที่มักเดินทางเข้าไปทำงานในอังกฤษช่วง 4 – 5 เดือน แล้วกลับบ้านในช่วงฤดูหนาว ไม่สามารถเดินทางเข้าไปทำงานอย่างเสรีได้อีกต่อไป จนทำให้เกษตรกรชาวอังกฤษเริ่มกังวลว่าจะขาดแคลนแรงงาน

แจ็กกี กรีน ซีอีโอของเบอร์รีการ์เดนระบุว่า ปัจจุบัน ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมของอังกฤษก็ทำให้ไร่สตรอเบอร์รีมีผลผลิตเน่าคาต้นจำนวนมากอยู่แล้ว ปีนี้ มีรายงานการขาดแคลนแรงงานถึงประมาณร้อยละ 30 – 40 และเมื่อเบร็กซิตแล้ว สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานก็อาจจะเลวร้ายลงไปอีก

ระหว่างการรณรงค์ทำประชามติเบร็กซิตในปี 2016 ชาวอังกฤษจำนวนมากกังวลว่าจะมีชาวมุสลิมทะลักเข้าไปในยุโรปและในอังกฤษ เมื่อตุรกีเข้าร่วมอียู แม้จะยังไม่เห็นความเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้ว่าตุรกีจะเข้าร่วมอียู เพราะตุรกียังไม่สามารถทำตามมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของอียูได้ ขณะที่นางเทรเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ประกาศว่า อังกฤษจะควบคุมชายแดนอังกฤษอย่างเข้มงวดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาผู้อพยพ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านเบร็กซิตโต้แย้งว่าอังกฤษต้องการแรงงานต่างชาติอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในภาคการเงิน เทคโนโลยีและยา ที่ยังได้รับการยกเว้น แต่ยังรวมไปถึงแรงงานต่างชาติในโรงแรม ร้านอาหาร และเกษตรกรรมในหลายพื้นที่ทั่วอังกฤษ หากแรงงานจากยุโรปเข้าไปทำงานในอังกฤษน้อยลง ชาวอังกฤษก็จำเป็นต้องมาทำงานเหล่านี้แทน หรือไม่ก็จ้างงานชาวเบลารุส เนปาล หรือฟิลิปปินส์แทน ซึ่งหมายความว่า จำนวนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอังกฤษก็จะไม่ต่างจากช่วงก่อนเบร็กซิตอยู่ดี

สเตฟานี มอเรล ซีอีโอของคองคอร์เดีย บริษัทจัดหางานที่หาแรงงานให้กับเกษตรกรชาวอังกฤษกว่า 200 เจ้า ระบุว่า จากผู้สมัครกว่า 10,000 คน มีชาวอังกฤษสมัครมาเก็บผักผลไม้เพียง 2 คนเท่านั้นเอง โดยเหตุผลที่พวกเขาไม่อยากทำงานนี้ก็เพราะการเก็บผักผลไม้ต้องเริ่มทำงานตั้งแต่เช้ามืด เวลาการทำงานยาวนาน ต้องใช้แรงเยอะ เป็นงานไม่ประจำ มีเฉพาะช่วงฤดูเก็บเกี่ยวเท่านั้น ไม่มีการขนส่งมวลชนที่สะดวกพอสำหรับการเดินทางไปทำงาน และเกษตรกรรมไม่ใช่ “ที่สำหรับคนมีการศึกษาที่ไม่มีงานทำ”

มอเรลกล่าวว่า ชาวอังกฤษมักทำงานเป็นผู้จัดการด้านโลจิสติกส์ หรือพนักงานออฟฟิศ และปัจจุบัน แม้จะเป็นคนที่ทำงานในออฟฟิศรายได้สูงในภาคเกษตรกรรมส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวยุโรปตะวันออก หรือต่อให้มีชาวอังกฤษเข้ามาสมัครเก็บผักผลไม้ ส่วนใหญ่แล้วก็จะทำงานได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็ขอลาออกแล้ว

ด้านคริสตีน สเนลล์ เจ้าของไร่เบอร์รีที่ได้รางวัลว่าเป็นไร่เบอร์รีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ระบุว่า เธอและสามีอยากบอกให้ทุกคนเข้าใจว่า หากพวกเขาหาชาวอังกฤษมาทำงานได้ พวกเขาก็จ้างชาวอังกฤษแล้ว แต่ในความเป็นจริง พวกเขาหาชาวอังกฤษที่จะมาทำงานนี้ได้ไม่มากนัก ขณะเดียวกับการเก็บเบอร์รีก็เป็นงานที่ใช้หุ่นยนต์มาทำแทนมนุษย์ได้ยากมากด้วย

แม็กซ์ ฮิวส์ นักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์วัย 20 ปีเป็นแรงงานเก็บเบอรีชาวอังกฤษเพียงไม่กี่คน เขาใช้เวลาช่วงหยุดฤดูร้อนเก็บผลแบล็กเคอเรนท์ในกับไร่ของสเนลล์ เขาเล่าว่า เขานั่งอยู่บนเครื่องเก็บเบอร์รีทั้งวัน โดยมีคนงานชาวเช็กและชาวโรมาเนียช่วยกันทำงาน ซึ่งแม้คนเหล่านี้จะพูดภาภาษอังกฤษได้น้อยมาก แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะเสียงเครื่องยนต์ดังตลอดวันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องคุยอะไรกันมากนัก

นอกจากนี้ ฮิวส์เล่าว่า เขามีรายได้มากกว่า 3,000 ปอนด์หรือเกือบ 130,000 บาทสำหรับการทำงานตั้งแต่ 5 นาฬิกาถึงช่วงบ่ายแก่ๆ 6 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 6 สัปดาห์ แต่ข้อเสียของงานนี้ก็คือ การเก็บเบอร์รีเป็นงานซ้ำซากน่าเบื่อ

ด้านลูอิส ฮิสค็อกซ์ ชาวอังกฤษวัย 24 ปีที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์เปอร์อดัมส์และเคยเก็บแบล็กเคอรเรนท์กล่าวว่า เด็กๆ หลายคนจะไม่มาทำงานนี้ เพราะอยากลองไปทำงานในกรุงลอนดอนที่ได้เงินมากกว่าและสนุกกว่านี้ นอกจากนี้ เกษตรกรรมถูกเชื่อมโยงเข้ากับชาวยุโรปตะวันออก ซึ่งหมายความว่า เกษตรกรรมเป็นงานสำหรับคนจน

เฮเลน เวทลีย์ สมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมที่นั่งเก้าอี้ประธานของตัวแทนกเษตรกรผักผลไม้ในรัฐสภาระบุว่า เกษตรกรจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่แล้วแม้อังกฤษไม่ออกจากอียู แต่เบร็กซิตจะทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะค่าเงินปอนด์อ่อนลง ประกอบกับเศรษฐกิจใ���หลายประเทศอย่างโรมาเนียก็เริ่มดีขึ้นแล้ว เธอจึงเสนอให้อังกฤษมีแผนการรับแรงงานภาคเกษตรกรรมในฤดูเก็บเกี่ยว ที่จะอนุญาตให้แรงงานเข้าไปทำงานในอังกฤษในช่วงเวลาที่กำจัด

ภาพ: Elijah O'Donell on Unsplash