หลังจากวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2560 หรือ ช็อปช่วยชาติ กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. สามารถนำใบกำกับภาษีชนิดเต็มรูปแบบ มาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท
2. เป็นการซื้อสินค้า บริการ ร้านอาหาร และตั๋วเครื่องบินเดินทางในประเทศซึ่งไม่รวมแพ็กเกจทัวร์
3. ไม่รวมสินค้าประเภท แอลกอฮอล์ บุหรี่ และทองคำแท่ง ส่วนทองรูปพรรณสามารถลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จเท่านั้น
นโยบายดังกล่าวในปีนี้มีระยะเวลาการใช้จ่ายที่ยาวขึ้น และอาจจะเรียกได้ว่า “ช็อปช่วยชาติ” คือมรดกทางนโยบายของคสช. ที่หลายฝ่ายเรียกว่า เป็นการทำประชานิยมกับคนรวยโดยมาตรการช้อปช่วยชาติที่ออกมาในปี 2559 มีผู้ได้ประโยชน์ประมาณ 3.2 ล้านคน จากฐานผู้เสียภาษี 9.6 ล้านคน ส่งผลให้การใช้จ่ายช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 เท่า หรือประมาณ 125,000 ล้านบาท
มุมมองของ ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่านโยบายดังกล่าวไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง เพราะผู้ที่ต้องการซื้อสินค้านั้นก็จะซื้ออยู่แล้วเพียงแต่รอเวลาให้อยู่ในระยะที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ ทำให้เกิดการชลอซื้อก่อนมาตรการ และช่วงหลังมาตรการก็อาจจะมีกำลังซื้อหายไปสำหรับกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ ภาวินมองว่ามีอยู่สองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกก็คือกลุ่มที่มีรายได้สูง มนุษย์เงินเดือน เพราะจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติกลุ่มที่มีรายได้เกินเกณฑ์ที่ต้องลดหย่อนภาษีนั้นมีจำนวนไม่มากนัก อีกกลุ่มที่ได้รับประโยชน์แน่ๆก็คือบริษัทห้างร้านขนาดใหญ่ หรือเป็นนโยบายประชานิยมสำหรับคนรวย
ด้านดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าทีมวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร กล่าวว่า มาตรการช้อปช่วยชาติถูกนำมาใช้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่กลับไม่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ใช้สิทธิอยู่ในกลุ่มรายได้เท่าไร คิดเป็นมูลค่าเท่าไร นำไปซื้ออะไรบ้าง ฯลฯ เพื่อนำไปวิเคราะห์ได้ว่ามาตรการดังกล่าวคุ้มค่า ตอบโจทย์ประชาชนจริงหรือไม่ และเป็นนโยบายที่มีประโยชน์จริงหรือ เพราะตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง หากคนซื้อสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศ ที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศน้อย แม้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างกำไรให้ผู้ขาย แต่ผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมมีน้อยมาก
เรื่องนี้กรมสรรพากรชี้แจงว่าสำหรับปี 2560 การออกนโยบายช็อปช่วยชาติ จะช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีนั้นขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี และสร้างปรากฎการณ์เชิงจิตวิทยาในการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ และปฏิเสธว่า มาตรการดังกล่าวไม่ได้มุ่งเน้นเพื่อให้ความช่วยเหลือกับผู้มีรายได้มาก หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อย่างไรก็ดีนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมายอมรับว่าที่ผ่านมา กรมสรรพากรยังไม่มีข้อมูลว่า ช้อปช่วยชาติในช่วง 2 ปี คือ ปี 2558 และปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้มีเงินได้ซื้อสินค้าประเภทใดบ้าง และเป็นผู้มีฐานเงินได้ระดับใด ใช้สิทธิลดหย่อนเท่าไร หรือมีสัดส่วนเท่าไร
ทำให้ยิ่งเกิดคำถามว่ารัฐบาลที่ต่อต้านเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายประชานิยมในระดับรากหญ้า แต่กลับทำประชาชนนิยมเสียเองในกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูงที่เป็นฐานอำนาจของตัวเองใช่หรือไม่?