ไม่พบผลการค้นหา
ดีเอสไอ ยืนยันมาตรฐานและความโปร่งใสในการดำเนินคดีการกระทำความคิดที่มีต่อกลต. ไม่เงียบหายเหมือนที่มีสื่อนำเสนอแต่อย่างใด

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน หลังถูกพาดพิงเรื่องกระบวนการทำงานในคอลัมน์ 'ชุมชนคนหุ้น' จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ประจำวันอังคารที่ 30 ม.ค. 2561 ซึ่งคอลัมน์ดังกล่าวระบุว่า การทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในเรื่องการปราบปรามผู้กระทำผิดในตลาดหุ้น ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนับสิบคดี เพราะเมื่อ กลต.ร้องทุกข์ไปแล้ว และคดีหลุดไปอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือชั้นอัยการ คดีมักเงียบหายไม่มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวใด ๆ และไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดดีเอสไอหรืออัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง ทำไมจึงไม่มีใครถูกตัดสินลงโทษทางอาญาในคดีความผิดเกี่ยวกับตลาดหุ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนน่าจะมีคำตอบแล้ว เพราะคดีส่วนใหญ่ไม่ถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของศาล กระบวนการยุติธรรมจึงมีลักษณะฟันหลอ รวมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าการสั่งคดีอาจมีผลประโยชน์แอบแฝงและเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เพราะไม่มีพยานหลักฐานนั้น

ดีเอสไอระบุในแถลงการณ์ว่า "เรื่องนี้เคยมีการชี้แจงต่อสาธารณชนไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 และขอยืนยันอีกครั้งว่าในการรับคดีความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ของกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น คดีส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวโทษ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการในเรื่องที่พบว่า มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีลักษณะเป็นสหวิชาชีพ กล่าวคือประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลายด้าน รวมทั้งการเงิน การธนาคาร และหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย 

มีการดำเนินคดีในรูปแบบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 30 ในการแต่งตั้งที่ปรึกษาคดีพิเศษเพื่อให้คำปรึกษาในคดีที่มีความซับซ้อน หรือเกี่ยวข้องกับเทคนิคเฉพาะด้านได้ รวมทั้งการมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนในคดี และตรวจสอบสำนวนการสอบสวน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันมาตรฐาน และความโปร่งใสของการทำงานของในคดีดังกล่าว ในกรณีที่การสอบสวนเสร็จสิ้น

ถ้ากรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าคดีใดพยานหลักฐานไม่พอฟ้องและเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง กฎหมายจะมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกับพนักงานอัยการ ตามมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 โดยถ้าพนักงานอัยการเห็นควรฟ้อง ก็จะออกคำสั่งฟ้องได้ทันที 

แต่ถ้าจะสั่งไม่ฟ้อง ไม่ว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะมีความเห็นฟ้องไปหรือไม่ก็ตาม พนักงานอัยการต้องส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา ถ้าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด 

นอกจากนั้น เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ผู้กล่าวหา ผู้ต้องหายังมีสิทธิร้องขอต่อพนักงานอัยการเพื่อขอทราบสรุปพยานหลักฐานได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 146 ซึ่งผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบการทำงานเจ้าหน้าที่ และเหตุผลที่ไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้อยู่แล้ว หากภายหลังมีหลักฐานใหม่ก็ยังสามารถขอสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ต้องหาใหม่ได้อีก จึงไม่มีประเด็นน่ากังวลตามข่าวแต่อย่างใด"