‘เดอะมาร์ค’ อาจจะยังเป็นนายกในฝันของคนเมือง แต่สำหรับคนอีกฟากฝั่ง เขาคือโมฆะบุรุษเต็มตัวในระดับที่ตายแล้วในทางการเมือง เมื่อผสมกับข่าวการปะทะเพื่อชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค สอดรับกับนิด้าโพล ที่พบว่า เดอะมาร์ค มีคะแนนนิยมตกมาเป็นลำดับที่ 4 ในโพลเดือนกันยายน
บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
อันดับ 1 ร้อยละ 29.66 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
อันดับ 2 ร้อยละ 17.51 สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
อันดับ 3 ร้อยละ 13.83 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
อันดับ 4 ร้อยละ 10.71 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เดอะมาร์ค ได้รับคะแนนนิยมสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 ในโพลเดียวกัน ด้วยคะแนนนิยม 14.24% ก่อนตกมาเรื่อยๆ จนเป็นตัวเลขคะแนนนิยมที่ 10.71%
ธนาธร ไต่จากตัวเลขต่ำสุดในเดือนมีนาคม ปี 2561 ด้วยคะแนนนิยม 6.88% ก่อนทยานเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เป็นตัวเลขคะแนนนิยม 13.83% ถ้าผลงานในต่างแดนที่ช่วยฉายความเป็น Global Leadership ยังดีเช่นนี้ ผสมผสานกับการลงพื้นที่แบบถี่ยิบทั่วไทย มีแนวโน้มเบียดขึ้นอันดับสองได้ไม่ยาก เพราะหลังจากเดินสายในเวียดนาม แคนาดา ธนาธรมีแพลนเดินทางต่อไปพูดที่ สหรัฐฯ ก่อนปิดท้ายที่การเดินสายในยุโรปในเดือนพฤศจิกายน
เมื่อถามว่า ทำไม คะแนนนิยมของธนาธร จึงเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งจากเดือนกรกฎาคม มาถึงเดือนกันยายน จาก 7.48% มาเป็น 13.83% น่าจะเป็นจากเหตุผลสามข้อต่อไปนี้
หนึ่งคือคลิปเนชั่นที่ตั้งใจชวนธนาธรไปลากไส้ แต่กลับพบว่า พิธีกรโดนตบกลับไม่มีเหลือ คลิปนั้นเอง ทำให้ได้เห็นจุดยืนของธนาธรชัดเจนขึ้น โดยเป็นจุดยืนในระดับที่ประกาศว่า “อนาคตใหม่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยสาขาสอง” สำคัญไปกว่านั้น คือการยึดคาถาของสมพร ผู้เป็นแม่ ไว้อย่างมั่นคง “ถ้าไม่นิ่ง...เป็นอะไรก็ไม่ได้” ในคลิปวันนั้นทดสอบความเป็นผู้นำของเขาไว้มากทีเดียว เฉพาะคลิปที่เผยแพร่ในเพจของเขามียอดผู้ชมวันนี้ ใกล้แตะ 1 ล้านวิว
สองคือ การเดินสายในต่างแดน เริ่มที่เวที World Economic Forum on Asean 2018 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ธนาธรขึ้นพูดในหัวข้อ ‘A New Political Generation’ ร่วมเวทีกับ “เกรซ นาตาลี” แห่งพรรค Indonesian Solidarity Party (PSI) พรรคการเมืองใหม่ขวัญใจคนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซีย
เวทีนั้น ธนาธรเรียกเสียงเชียร์จากฝั่งประชาธิปไตย ด้วยประโยค “ก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นประทีปแห่งความหวังของอาเซียน เป็นต้นแบบประชาธิปไตยของเพื่อนบ้าน ผมในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะทุ่มเททั้งชีวิต นำประเทศไทยกลับสู่หนทางประชาธิปไตยอีกครั้งให้ได้”
ตามด้วยการเดินสายต่างแดนร่วมเวที Global Progress Summit 2018 ที่ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ธนาขึ้นพูดในหัวข้อ “ฝ่ายก้าวหน้าใต้ภัยคุกคาม: เผด็จการและประชานิยมในการเมืองโลก” ร่วมเวทีกับอดีตนายกฯฮังการี อดีตนายกฯออสเตรีย และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอียิปต์ ก่อนปิดท้ายด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ที่ Concordia Summit ที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์แบบ Global Leadership ย่อมมีผลต่อคนเมือง และความเชื่อมั่นว่าธนาธรจะเป็นตัวแทนคนไทยในเวทีโลกได้ดี สมัยรุ่งเรืองที่สุดของทักษิณ ภาพความเป็นผู้นำที่เฉิดฉายในเวทีนานาชาติ เป็นอีกภาพหนึ่งที่คนไทยจดจำได้ดี
เป็นโอกาสอันดี ที่เสียงของธนาธร จะช่วยให้โลกจับตาการเลือกตั้งรอบนี้ของไทย ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ฟรีและแฟร์ได้จริงหรือไม่
เอาเฉพาะอีกไม่กี่เดือนจะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่จากนิด้าโพล พบว่า ประชาชนกว่า 52.76% กลับ “ไม่เชื่อมั่น” ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบรรยากาศของบ้านเมืองดูไม่เหมือน บ้านเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง
โดยเฉพาะในเมื่อ คสช.งัดกฎเหล็กมากมาย เพื่อปิดปากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แต่กลับเปิดช่องให้ ทั้งกลุ่มสามมิตร และกลุ่มสุเทพเดินสายทั่วประเทศ ทั้งเดินสายดูด และเดินสายหาเสียง
การเดินสายในต่างแดนของธนาธร นัยยะอยู่ที่ตรงนี้ด้วย มันคือการใช้โลกล้อมไทย บีบให้ผู้มีอำนาจ ไม่กล้าทำร้ายพรรคฝ่ายประชาธิปไตย มันคือคือการใช้โลกล้อมไทย บีบให้ผู้มีอำนาจเปิดเพดานทางการเมืองให้สูงขึ้น
ตัดภาพกลับมาที่ ชะตาของ อภิสิทธิ์ ในวันตกอันดับ มาอยู่อันดับ 4 ที่คนไทยอยากเห็นเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไป
เป็นไปได้ว่า คะแนนที่ตกต่ำลงเป็นผลจากการที่ผู้คนเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ไปไหนมาไหนในทางการเมือง ไม่เสนอสิ่งใหม่ต่อสังคม และกำลังเล่นการเมืองของการใช้ปากไปเรื่อยๆ สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นงานถนัดของพรรคนี้ อย่างน้อยที่สุดภาพจำของพรรคนี้ ก็ดำเนินไปแบบนั้น
เฉพาะในขั้นตอนของการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก็มีภาพความขัดแย้งปรากฎอยู่เป็นระยะ ทั้งเป็นความขัดแย้งในเรื่องกติกาเลือกหัวหน้าพรรคระหว่าง ทีมอภิสิทธิ์ กับ ทีม กปปส. และทั้งเป็นวิวาทะระหว่าง ทีมอภิสิทธิ์ กับ ทีมอลงกรณ์
ในความหมายของทีม แน่นอนว่า เป็นผลจากแต่ละหัวย่อมมีลูกน้องอยู่ในสังกัด
แม้ความปรารถนาดี ของ เดอะมาร์ค จะอยู่ที่การทำให้พรรคก้าวหน้าไปไกลตามภาษาการเมืองใหม่ ด้วยการคืนอำนาจกลับไปที่สมาชิกพรรค แต่ในเกมส์อำนาจครั้งนี้ ลึกๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นความพยายามในการเพิ่มพูนความชอบธรรมทางการเมืองของ เดอะมาร์ค ท่ามกลางคำปรามาสว่าไม่สามารถนำพรรคชนะการเลือกตั้ง ได้ในระยะเวลาที่ตัวเองนั่งเป็นหัวกว่าทศวรรษแล้ว อีกด้านหนึ่งก็เป็นการเผยให้เห็น “ก๊ก” ในพรรคประชาธิปัตย์ ว่ามีการปะทะคะคาน และหากเดอะมาร์ค ยังนั่งเป็นหัวต่อ ก็มีแววว่าจะระส่ำไปข้างหน้า
จนล่าสุด “นายหัวชวน” ส่งข้อความผ่านไลน์ให้ ส.ส.พรรคว่า “ขอเป็นกำลังใจแก่ชาวประชาธิปัตย์ทุกคน ขอให้หนักแน่น มั่นคง เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะคิดเห็นต่างกันอย่างไร ให้ร่วมกันปกป้องพรรคที่ประชาชนเขามีส่วนร่วมมาตลอด” – ข้อความของนายหัวชวน เป็นหนึ่งในการยอมรับว่า แรงปะทะรุนแรงนั้นดำรงอยู่จริง
ทั้งหมดนี้ เป็นธรรมดาของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ค่อยได้ปฏิรูปตัวเอง คือสะสมปัญหาไว้เบื้องล่าง รอวันปะทุออกมา
ชวนจับตามองความเคลื่อนไหวพรรคสีฟ้าในวันฟ้าหม่นที่จะร้อนแรงไปตลอดสัปดาห์นี้
วันพรุ่งนี้ “อลงกรณ์ พลบุตร” หนึ่งในแคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรค จะเข้าพบ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เพื่อหารือเรื่องอนาคตพรรคและกติกาไพรมารี่ อลงกรณ์บอกว่า “การหยั่งเสียงไพรมารี่ควรเปิดกว้างให้สมาชิกที่ลงทะเบียนก่อนและหลังเดือนเมษายน2561ซึ่งมีไม่น้อยกว่า2.9ล้านคนมีสิทธิ์ลงคะแนนแบบวันแมนวันโหวตโดยให้มีการดีเบต 2 ครั้งและถ้าผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ถือเป็นเด็ดขาดเพราะพรรคเป็นของสมาชิกทุกคนโดยที่ประชุมใหญ่พรรคทำหน้าที่รับรองหัวหน้าพรรคคนใหม่”
ส่วนในวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2561 หมอวรงค์ประกาศผ่านสื่อแล้ว “ผมตั้งใจจะประกาศเจตนารมณ์ สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ณ ลานอนุเสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ 27 กันยายน 2561 เริ่มเวลา 17.00 น. เนื่องจากจังหวัดพิษณุโลก เป็นบ้านของผมเอง และเป็นที่เกิดทางการเมืองของผม” ทั้งกร้าวด้วยว่า ในเวทีวันนั้น จะเห็นตัวละครทางการเมืองที่หนุน วรงค์ มากอีกมาก
หา “หัว” ได้แล้ว อย่าลืมทำงานหนักไปกว่านั้น เพราะโจทย์หนักหนาของพรรคสีฟ้า อาจไม่ใช่แค่หาหัวให้พร้อมรับการเลือกตั้งในคราวนี้
หา “หัว” ได้แล้ว อย่าลืมยาใจคนที่บอบช้ำ ไม่เช่นนั้น แรงระส่ำ จะหมายถึงเอกภาพของพรรค ในระดับที่ ในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เสียงอาจพลิกเป็นอย่างอื่นได้!!