ไม่พบผลการค้นหา
กรธ.ยืนยันหลักการให้ ส.ว.สรรหา ร่วมเสนอชื่อและโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอร่างกฎหมายที่มา ส.ว.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาสิ้นเดือนนี้ ไม่สนถูกติงเอื้อ คสช. หากนโยบายพรรคไหนดีคนก็เลือกเยอะ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการทบทวน ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพรุ่งนี้ โดยยืนยันหลักการ ส.ว. สรรหา 200 คนมีสิทธิ์เสนอชื่อและลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก ตามรัฐธรรมนูญ

แม้จะมีนักการเมืองออกมาวิเคราะห์ว่า เนื้อหาในกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และกลุ่มทหารจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง แต่นายมีชัยยืนยันว่า หากนักการเมืองทำนโยบายที่ประชาชนชื่นชอบ ก็มีโอกาสจะได้รับเลือกเป็น ส.ส. มากตามไปด้วย และหาก ส.ส. และ ส.ว. สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก

อย่างไรก็ตาม มาตรา 269 ของบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้วาระเริ่มแรก มี ส.ว.จำนวน 250 คน มาจากการสรรหา โดยกรรมการสรรหาที่ คสช.จะแต่งตั้งขึ้น จากนั้นส่งรายชื่อให้ คสช.เป็นผู้คัดเลือกวุฒิสภาในขั้นตอนสุดท้ายจำนวน 194 คน รวมกับผู้ได้รับแต่งตั้ง เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมเป็น 250 คน 

มีวาระ 5 ปี กรณีพ้นตำแหน่ง ให้เลื่อนรายชื่อบุคคลตามลำดับในบัญชีสำรอง หรือผู้ที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ขึ้นมาแทน จนกว่าจะครบวาระ นอกจากอำนาจเสนอชื่อและโหวตนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีหน้าที่และอำนาจ ติดตาม เสนอแนะ กำกับการบริหารประเทศให้เป็นไปตามแผนปฏิรูป และอำนาจเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายด้วย