ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดงานเสวนาเรื่อง 'จับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี 62...หมูจริงหรือไม่' วันศุกร์ที่ 7 ธ.ค. 2561 คาดเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ขยายตัวดีขึ้นจากเดิม มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การประมาณการจีดีพีทั้งปี ปรับลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 4.6 มาที่ร้อยละ 4.3 อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยปีหน้าคาดจะเติบโตเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น
ปัจจัยภายนอกที่บั่นทอนเศรษฐกิจไทย
สงครามการค้าเป็นปัจจัยหลักภายนอกประเทศที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย แม้มีความพยายามในการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐฯ จนบรรลุข้อตกลงการพักรบชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการพูดคุยกัน ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ออกมาชี้แจงข้อตกลงให้ชัดเจนจนสร้างความสงสัยและไม่มั่นใจให้กับเหล่านักลุงทุน อีกทั้ง นายศิวัสน์ เหลืองสมบุรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าคงเป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลรบกวนบรรยากาศการค้าโลกตลอดทั้งปี และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการค้าของไทยราว 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.01 แสนล้านบาท
เมื่อมองลึกลงไป นายศิวัสน์ มองว่า ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้สงครามการค้ายืดเยื้อมาจากปัญหาด้านการแข่งขันทางเทคโนโลยี เมื่อไปดูตัวเลขการจดสิทธิบัตรปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ พบว่าในปี 2556 จีนมีการจดสิทธิบัตรเอไอที่ 127 ราย ในขณะที่สหรัฐฯ มีตัวเลขจดสิทธิบัตรอยู่ที่ 51 ราย และในปี 2560 ตัวเลขการจดสิทธิบัตรของจีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 641 ราย คิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 50 ในขณะที่สหรัฐฯ ตัวเลขเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 130 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ชัดเจนว่า สหรัฐฯ พยายามขัดขวางการพัฒนาด้าน ICT ของจีนเนื่องจากเทคโนโลยีในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามขจัดการส่งผ่านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เป็นธรรมจากสหรัฐฯไปจีน
"จริงๆตอนนี้เป็นเดิมพันระยะยาวระหว่าง 2 ประเทศ สุดท้ายแล้วการค้ามันเป็นแค่ตัวประกัน" นายศิวัสน์กล่าว
นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอกประเทศอย่างการที่อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) สถานการณ์การคลังของอิตาลี และความผันผวนของค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่อย่าง ตุรกี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดเงินโลกอย่างต่อเนื่อง
ทิศทางส่งออก-ท่องเที่ยวไทย ปี 62
ปัจจัยหลักในปีนี้ที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยตกลงอย่างเห็นได้ชัด มาจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ประเด็นสงครามการค้าโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนโดยตรง เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กระทบตัวเลขส่งออกไทยในปีหน้า อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองคือราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มต่ำลง แม้จะทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลงแต่ก็ส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมปรับตัวลดลงตามไปด้วย และเมื่อเทียบกับฐานสูงในปี 2561 ส่งผลให้ ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกไทยปีหน้าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5
ด้านเศรษฐกิจไทยคาดจะเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.0 ซึ่งต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อชดเชยโมเมนตัมที่หายไปของภาคต่างประเทศ โดยเชื่อว่า หากการเลือกตั้งผ่านไปได้อย่างราบรื่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายและการลงทุนของประเทศ รวมถึงความต่อเนื่องของการผลักดันงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐให้ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง
"เรามองว่าปีหน้าโครงการก่อสร้างภาครัฐน่าจะดำเนินต่อไปได้แล้วก็จะดึงเอกชนให้เข้ามาลงทุน ภาครัฐมาจริงๆ" นางสาวณัฐพร กล่าว
ประเด็นเรื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวของไทยนั้น นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนช่วงหลังกลางปีหน้าเป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนมาไทยประมาณ 10.7 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม นางเกวลิน ย้ำว่า ไทยต้องหาจับตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่มาชดเชยนัดท่องเที่ยวจีนเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาเซียน รวมถึงผลักดันให้คนไทยหันมาเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น เพราะไทยเที่ยวไทยนั้นมีมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด
ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ย-หนี้เสีย
วันที่ 19 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการแถลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ และมองว่าธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน ขณะที่ในปี 2562 มีความเป็นไปได้ว่า กนง. อาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก แต่เป็นในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้ง
นางสาวกาญจนา มองว่าการปรับดอกเบี้ยแบงก์ในช่วงครึ่งปีแรก เน้นไปที่อัตราเงินฝากพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยาเวลาค่อนข้างยาว ไม่ใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยทั่วไป เพราะประเทศยังมีสภาพคล่องอยู่มาก อย่างไรก็ตามด้วยเศรษฐกิจที่มีแรงส่งลดลง ส่งผลให้สินเชื่อในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0 ชะลอลงจากร้อยละ 6.0 ในปีนี้ ด้านเอ็นพีแอลของระบบบธนาคารไทยและต่างชาติ มีโอกาสแตะระดับสุงสุดครั้งใหม่ในช่วงกลางปีหน้า โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีและบ้าน เป็นกลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ
ด้านเงินบาทท่ามกลางการปรับบอัตราดอกเบี้ยและประเด็นสงครามการค้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าภายในกรอบปีนี้ ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ระดับสิ้นปีอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นางสาวกาญจนามองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ไม่ส่งผลมากต่อค่าเงินบาทแม้จะมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ปัจจัยที่น่าจะมีผลต่าค่าเงินบาทน่าจะมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่มีแนวโน้มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ในปีหน้าก็ยังคงมีแนวโน้มที่ค่าเงินบาทจะอ่อนต่อเนื่องทั้งปี
ดาวรุ่ง-ดางร่วง ธุรกิจไทยปี 62
นางสาวเกวลินมองว่า กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีการขยายตัวได้ดี คือกลุ่มค้าปลีกออนไลน์ แม้จะมีมาตรการการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่เทรนด์ในการซื้อของออนไลน์จะช่วยสนับสนุนมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์เติบโตได้ดีในปี 2562 อีกหนึ่งธุรกิจที่ยังไปได้ดีแต่มีการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าคือ โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ผู้ใช้บริการอันดับหนึ่งมาจากแถบประเทศตะวันออกกลาง แต่จากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำส่งผลให้ผู้ใช้บริการที่มาจากประเทศเหล่านี้มีกำลังในการบริโภคน้อยลง และแนวโน้มจะยังไม่กลับมาในปี 62 เพราะราคาน้ำมันยังมีแนวดน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบัน เมียนมา เป็นประเทศที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนไทยเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยจีนและญี่ปุ่น อีกหนึ่งธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีในปี 2562 คือการก่อสร้างภาครัฐ
ธุรกิจที่คาดว่าจะมีการชะลอตัวในปีหน้า ได้แก่ เกษตรกรรม เนื่องจากมีปัจจัยหลักในด้านอุปทานส่วนเกินรวมถึงมีการแข่งขันทางการค้าสูง รถยนต์เนื่องจากมียอดขายสูงทะลุ 1 ล้านคันในปีนี้ คาดปีหน้ายอดขายรถยนต์ลดลงร้อยละ 3 และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาฯของ ธปท. และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย