"ประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2561 ก็จะประกาศวันเลือกตั้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะเป็นกระบวนการเลือกตั้งนะครับ ก็อันนี้ ก็ชัดเจนขึ้น ก็ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมือง ขอให้อยู่ในความสงบ ซึ่งก็จะมีผลต่อการพิจารณามาตรการในการผ่อนคลายต่าง ๆ ด้วยนะครับ"
คำสัญญาประชาคมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2560 ว่าจะประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นทางการ จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ถูกยกให้เป็นเหตุการณ์ที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของปี 2560
เพราะถ้อยแถลงดังกล่าว เป็นการประกาศอย่างชัดเจนและเห็นภาพที่สุด ถึงกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่คาดจะเกิดขึ้นในปลายปี 2561
โรดแมปเลือกตั้งของ พลเอกประยุทธ์ ครั้งนี้ ยังชัดเจนที่สุดนับแต่ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560
การประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของพลเอกประยุทธ์ ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนนำไปสู่การประกาศใช้
ขณะที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อีก 2 ฉบับสุดท้าย คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาวาระที่ 2 ของ สนช.
ทันทีที่กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอีก 2 ฉบับสุดท้ายมีผลบังคับใช้เมื่อใด สัญญาณนับหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นทันทีใน 150 วัน
จุดเริ่มต้นของการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นภายหลังพลเอกประยุทธ์เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2-4 เดือนตุลาคม 2560
นายกรัฐมนตรีของไทยยืนยันกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งเป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้
"ในปีหน้าเราจะประกาศวันเลือกตั้งออกมา โดยไม่มีการเลื่อนใดๆทั้งสิ้น เมื่อประกาศแล้วก็จะมีกรรมวิธีของการเลือกตั้ง คือนับไปอีก 150 วันตามกฎหมายหลังจากประกาศยืนยันว่าจะประกาศเลือกตั้งปีหน้าแน่นอน"
การเยือนสหรัฐฯครั้งนั้น พลเอกประยุทธ์ ยังให้สัญญาประชาคมต่อหน้าคนไทยในสหรัฐอเมริกาด้วยว่า เมื่อมีการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วก็คาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างน้อย 5-6 เดือน หรือประมาณต้นปี 2562 พร้อมย้ำว่าตัวเองไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ
"การเป็นประชาธิปไตย มันมาแน่นอน ผมยืนยันในปีหน้า (2561) ผมประกาศวันเลือกตั้งแน่นอน"
พลเอกประยุทธ์ กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งในงานเลี้ยงอาหารค่ำของสภาธุรกิจสหรัฐฯอาเซียนและสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2560
แม้ ผู้คุมอำนาจและคุมโรดแมป-กระดานการเมืองของไทยในยุค "คสช." จะยืนยันถึงวันเลือกตั้งทั่วไปที่ชัดเจนออกมา
แต่กระแสร้อนทางการเมืองจากนักการเมืองยังคงกดดัน "พลเอกประยุทธ์" อยู่เป็นระยะ
ประเด็นร้อนที่พุ่งตรงไปยัง "บิ๊กตู่" คือ การเลือกตั้งจะมีขึ้นตามโรดแมปในเดือนพฤศจิกายน ปี2561 จริงหรือไม่
การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีการปลดล็อกการดำเนินการทางธุรการของพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560
ทว่าคำสั่งดังกล่าวยังไม่ปลดล็อกให้ "พรรคการเมือง" สามารถดำเนินการจัดประชุมใหญ่ได้
คำสั่งฉบับนี้ ยังให้เวลาพรรคการเมืองเดิม ต้องให้สมาชิกพรรคเดิมมายืนยันสถานะความเป็นสมาชิกพรรค พร้อมทั้งชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน หากไม่มายืนยันจะพ้นจากสมาชิกพรรคการเมืองนั้นทันที
ประกาศไว้เลยสถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง เลือกตั้งได้หรือเปล่าผมไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าทำให้มันเกิดขึ้น
ประเด็นร้อนนี้ ทำให้ถูก "นักการเมือง" ต่างหวาดผวา ว่าจะเป็นการรีเซ็ตสมาชิกพรรค และช้อนอดีต ส.ส.ของพรรคตัวเองไปอยู่กับพรรคการเมืองที่ "คสช." จะจัดตั้งขึ้น
นักการเมืองจาก สองขั้วการเมืองใหญ่ อย่าง "พรรคเพื่อไทย" และ "พรรคประชาธิปัตย์" ยังทวงถามถึงคำสัญญาของ "คสช." ในช่วงส่งท้ายปี 2560 ว่า "การเลือกตั้ง" ในปี 2561 จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ท่ามกลางอำนาจพิเศษที่เบ็ดเสร็จ ผ่านกลไก "มาตรา44" ที่หัวหน้า คสช.สามารถหยิบออกมาใช้ได้ทุกเมื่อ เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันให้อำนาจรองรับไว้
ความหวาดกลัวว่า "การเลือกตั้ง" ในปี 2561 จะไม่เกิดขึ้นจริง จึงออกมาจากคนการเมือง
เพราะไม่เชื่อว่า ปี 2561 จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงตามสัญญาประชาคมของ "พลเอกประยุทธ์"
สะท้อนได้จากปฏิกิริยาของผู้นำ คสช.ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2560
"ยังไม่ต้องไปเตรียมเลือกตั้งให้วุ่นวายหรอก ถึงเวลาก็เลือกตั้งเองอ่ะ ถ้าดีชาวบ้านก็เลือก ใช่หรือเปล่า คราวหน้าเลือกคนดีๆ นะ ดีอยู่ทุกคนใช่ไหม ที่เลือกมาเนี่ย ถ้าดีแล้วก็เลือกไป ไม่ดีก็เลือกใหม่" พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อหน้าประชาชนที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2560
"ประกาศไว้เลยสถานการณ์ถ้ายังมีความขัดแย้งสูง เลือกตั้งได้หรือเปล่าผมไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าทำให้มันเกิดขึ้น ผมไม่ได้เป็นคนทำ เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งก็ขอให้มีความสงบสุขเรียบร้อย ถ้าไม่สงบเลือกแล้วถ้าเลือกตั้งไปแล้วยังมีการตีกันอยู่ผมก็รับผิดชอบไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพียงแต่พูดปรามไว้สำหรับคนที่จะสร้างความวุ่นวาย ประชาชนเองก็ต้องดู" พลเอกประยุทธ์ ยืนยันผ่านสื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ ในโอกาสอวยพรวันขึ้นปีใหม่ 2561
ขณะที่ช่วงส่งท้ายปียังมีเสียงเตือนจาก "พลเอกเปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
"ตู่ได้ใช้กองหนุนไปหมดแล้ว แทบจะไม่มีกองหนุนเหลืออยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเราสามารถแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีของเราที่มีต่อประชาชนชาวไทย กองหนุนจะมาเอง เพราะฉะนั้นขอให้ดำรงความมุ่งหมายและเพิ่มเติมกองหนุนให้มาขึ้นให้ได้ ตู่ทำได้ พวกเราก็ทำได้ และกำลังทำกันอยู่"
"ที่ตู่พูดว่าจะนำความสุขมาให้คนไทยนี้ จะต้องดำรงความมุ่งหมายนี้ให้ได้ แม้จะเหนื่อยยากยังไงก็ตาม"
ด้าน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังออกมาเรียกร้องด้วยว่า"ถ้า คสช.มีเหตุผลที่ดีว่าจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2561 ก็ขอให้ประกาศพูดอย่างตรงไปตรงมาต่อสาธารณชนและรับผิดชอบตามนั้น"
ปี 2561 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นศักราชนับถอยหลัง "คสช."
แต่ก็ถูกหลายฝ่ายจับตาว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่
และถ้ายิ่งจับคำพูดของ "พลเอกประยุทธ์" ที่มีไว้หลายครั้งในช่วงสิ้นปี 2560
"การเลือกตั้ง" ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีสุดท้ายของ "คสช." ก็เริ่มดูไม่แน่นอน
ไม่แน่นอนว่า "สถานการณ์การเมือง" ตลอดปี 2561 จะสงบราบรื่นตามที่ หัวหน้า คสช.ได้หวังไว้หรือไม่!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง