กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ "พายุ “บารีจัต” (BARIJAT) " ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 12 กันยายน 2561 ระบุว่า เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (12 ก.ย. 61) พายุโซนร้อน “บารีจัต” (BARIJAT) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนผ่านเกาะฮ่องกง และเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในช่วงวันที่ 13-14 กันยายน 2561 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
สำหรับ พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มการเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 14-15 กันยายน 2561 หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ในช่วงวันที่ 16-18 กันยายน 2561 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 13-18 กันยายน 2561 ไว้ด้วย
กรมชลฯ พร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักอีกระลอก
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ล่าสุดเมื่อวานนี้(11 ก.ย. 61) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 57,591 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 33,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สามารถรองรับน้ำได้อีก 18,516 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,994 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 10,298 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 7,877 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มทรงตัว โดยที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 928 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 5.90 เมตร ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งได้รับน้ำส่วนหนึ่งเข้าระบบชลประทาน ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในอัตรารวมกัน 448 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนพระยา เป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับรองรับปริมาณฝนที่จะตกในระยะต่อไป พร้อมกับควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 671 ลบ.ม./วินาที สถานการณ์น้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในภาวะปกติ
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง พร้อมกับให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรภาพของอ่างฯ และให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่เกิดขึ้นจริง โดยอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลของพายุพาดผ่าน ยังมีพื้นที่ เพียงพอที่จะสามารถรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาอีกในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ตามโครงการชลประทานทั่วประเทศ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 1,851 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 317 เครื่อง และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 2,805 หน่วย ที่พร้อมจะออกปฏิบัติการเข้าไปช่วยประชาชนที่อาจจะประสบกับปัญหาอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้วางแผนบริหารจัดการจราจรน้ำในลำน้ำสายหลักต่างๆ ที่มีส่วนเชื่อมโยงกันตามแผนที่ได้วางไว้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือให้เกิดน้อยที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนอย่างใกล้ชิดด้วย