ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ชี้ตั๋วร่วมแมงมุมที่ฝังในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 2 แสนใบ ได้ใช้จริง 1 ต.ค. เลื่อนจากกำหนดเดิมในเดือน มิ.ย. พร้อมเห็นชอบให้ รฟม. นำเทคโนโลยี EMV แมงมุม 4.0 มาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ชี้ใช้งบประมาณลดลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง เหตุไม่ต้องมีเครื่องจำหน่ายตั๋ว คาดเริ่มใช้ภายใน ธ.ค. 2562

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารระบบตั๋วร่วม ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. นำเทคโนโลยีระบบใหม่ที่จะเข้ามาบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หรือ บัตรแมงมุม ด้วยบัตรรูปแบบ EMV (Euro.Master.Visa) Contactless Smart Card (Open Loop) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ใน 127 เมืองทั่วโลก เช่น ลอนดอน เป็นต้น 

พร้อมกันนี้ยังมอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป สำหรับการนำระบบเทคโนโลยี EMV มาใช้จะปรับแนวทางการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ตามแนวทางการศึกษาเดิมที่จะเริ่มใช้งานตั๋วร่วมแบบระบบปิด หรือ Close Loop แมงมุม 2.0 ก่อน แล้วจึงพัฒนายกระดับเป็นแบบระบบเปิด หรือ EMV : แมงมุม 4.0 ในระยะต่อไป เพื่อเสนอให้พัฒนาและใช้งานตั๋วร่วมแบบระบบเปิด EMV : แมงมุม 4.0 ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการใช้ระบบเปิดแบบ EMV จะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพัฒนาระบบใกล้เคียงกับระบบปิดแบบเดิม แต่ใช้งบประมาณในการดำเนินงานน้อยกว่า จากวงเงินลงทุนเดิม 4,000 ล้านบาท เหลือวงเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ากรอบการใช้งานภายในเดือน ธ.ค. 2562 ระบบจะสมบูรณ์ทุกระบบ 

ทั้งนี้ จะนำร่องนำบัตรแมงมุม 2.0 ที่ผลิตมาแล้วก่อนหน้านี้จำนวน 200,000 ใบ รวมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นี้เป็นต้นไป ในรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงิน แอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถเมล์ ขสมก.

สำหรับข้อดีของการใช้ระบบเปิด EMV : แมงมุม 4.0 ต่อประชาชน เพิ่มความสะดวกมากขึ้นในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยสามารถใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตระบบ EMV ที่มีอยู่แล้วมาใช้บริการได้ทันที โดยไม่ต้องมีบัตรเงินสดเพิ่มเติม ซึ่งจะลดภาระในการเติมเงินลงในบัตรล่วงหน้า เนื่องจากจะเปลี่ยนเป็นการชำระเงินตามรอบในแต่ละเดือนหลังการใช้งาน เพิ่มความปลอดภัยในกรณีบัตรหายเนื่องจากไม่มีจำนวนเงินสดเก็บอยู่ในบัตร สามารถอายัดบัตรได้ทันที และค่าใช้จ่ายการเดินทางลดลง ด้วยระบบ Guarantee Minimum Fare ที่ใช้การหักค่าใช้จ่ายการเดินทางรายเที่ยว เป็นตั๋วรายวันหรือรายสัปดาห์โดยอัตโนมัติตามยอดการใช้จ่าย

"การนำเทคโนโลยีบัตร EMV มาใช้กับระบบตั๋วร่วมจะทำช่วยประหยัดงบประมาณลงทุนลงได้ถึงครึ่งหนึ่งจาก 4,000 ล้านบาท เหลือแค่ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากไม่ต้องมีเครื่องจำหน่ายตั๋ว ขณะที่ปัจจุบันก็มีการใช้บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน รวมถึงบัตรแมงมุมเดิมที่มีอยู่แล้ว 200,000 ใบ โดยจะนำร่องใช้กับรถเมล์ ขสมก. ซึ่งจะมีการเร่งติดระบบ E-Ticket ให้ครบ 2,600 คัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในวันที่ 1 ต.ค.นี้" นายชัยวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้เลื่อนการเปิดให้บริการตั๋วร่วมออกไปเป็นเดือน ต.ค. 2561 จากเป้าหมายเดิมคือ รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ขสมก. จะเปิดให้บริการทั้งหมด 2,600 คันในเดือน มิ.ย. 2561, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการเดือน ส.ค. 2561, รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 สายเปิดให้บริการเดือน พ.ย. 2561

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :