ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกปชป. มั่นใจคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีทายาทกระทิงแดง คลี่คลายข้อสงสัยของสังคมได้ พร้อมย้ำต้องเดินหน้าตรวจสอบถึงที่สุด แนะช่องทางเอาผิดอัยการ-พนักงานสอบสวน หากการสั่งคดีมีข้อพิรุธและความบกพร่อง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงกรณีที่อัยการไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ว่า ขณะนี้สังคมตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของอัยการ รวมถึงพนักงานสอบสวนและตำรวจที่สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ซึ่งทำให้เกิดการคลางแคลงใจและมีข้อพิรุธที่ทำให้สังคมทุกภาคส่วนสงสัยในหลายประเด็น ซึ่งอยากเน้นย้ำว่าเมื่อเกิดข้อพิรุธความเคลือบแคลงสงสัย หลายภาคส่วนก็จะได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของอัยการตำรวจและพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีเป็นดุลพินิจของอัยการ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะความจริงแล้วในการสั่งคดีของอัยการแม้จะเป็นอำนาจและดุลพินิจของอัยการ แต่หากมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ มีการบิดผันอำนาจให้หลุดพ้นไปจากความเป็นธรรม ความชอบธรรม ก็จะมีการตรวจสอบตามมา ซึ่งตนเองสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ออกคำสั่งล่าสุดในการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการที่นายกฯ ตั้งขึ้น จะสามารถขจัดข้อสงสัยและให้ข้อเท็จจริงว่าการกระทำของพนักงานอัยการชอบด้วยกฎหมายและมีความเป็นธรรมหรือไม่  

โดยผู้ที่เป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้คือนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งตนเองเชื่อมั่นว่าบุคคลที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานนี้ เป็นอดีตตุลาการ มีความเที่ยงตรง เป็นธรรม เป็นผู้ที่ตรงไปตรงมา ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ได้ทำการตรวจสอบทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วก็จะมีคำตอบที่ชัดเจน ว่าพนักงานอัยการใช้คำสั่งที่อยู่บนพื้นฐานของหลักความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าคณะกรรมการจะไม่ตรวจสอบเฉพาะอัยการแต่จะตรวจสอบพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอำนาจโดยตรงในการเรียงร้อยถ้อยความก่อนนำเสนอสู่อัยการ ดังนั้น ทั้ง 2 องค์กร นี้ควรต้องได้รับการตรวจสอบจากความเคลือบแคลงใจ และความสงสัยของคนทั้งประเทศ

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้จับตาดูเรื่องนี้และมีหลายคนได้สะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับการที่ทางตำรวจและอัยการได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบภายในกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน แต่ก็อาจมีคำถามจากสังคมได้ว่าหากอัยการและตำรวจตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบกันเองจะมีความชอบธรรมหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละชุดก็ต้องพิสูจน์ด้วยการทำงาน แต่ตนเองเชื่อมั่นว่าคณะกรรมการชุดที่นายกฯแต่งตั้งขึ้นจะเป็นความหวังของประชาชน เพื่อให้เรื่องนี้เกิดความกระจ่างกับสังคม

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้เสียหายไปทั้งหมด อย่าไปตีความว่ากระบวนการยุติธรรมเสียหายไปทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ตามที่หลายฝ่ายมุ่งโจมตี ซึ่งบางฝ่ายก็มุ่งโจมตีไปที่อำนาจตุลาการ บางฝ่ายก็บอกว่าคดีนี้อยู่ในชั้นศาลเป็นอำนาจของศาล ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ จึงไม่อยากให้มีการบิดเบือข้อเท็จจริงและนำไปสู่การโจมตีกระบวนการยุติธรรม ส่วนเรื่องใดที่ไม่ถูกต้องมีความไม่ตรงไปตรงมาก็เป็นหน้าที่ของทุกคนทั้งภาคประชาชน องค์กร ภาคส่วนที่มีกระบวนการตรวจสอบ และหน่วยงานต่างๆ ที่จะต้องช่วยกันตรวจสอบเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมอยู่ในร่องในรอย เพื่อให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมยังคงอยู่เพื่อทำหน้าที่รับใช้ประชาชนต่อไป 

ขณะเดียวกัน อยากฝากข้อเสนอถึง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในเรื่องการปรับปรุงองค์กรอัยการ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กำหนดไว้ชัดเจนว่าให้อัยการเผยแพร่คำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง พร้อมเหตุผลอย่างละเอียดให้ผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้รับทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ซึ่งจะนำประเด็นนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งหน้า เพราะมองว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องกำหนดกรอบให้พนักงานอัยการ ต้องเปิดเผยคำวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา หากคดีนี้มีข้อพิรุธหรือมีข้อผิดพลาดจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน ซึ่งมีความผิดสำเร็จแล้ว 

ดังนั้น เมื่อความผิดสำเร็จแล้วจากกระทำและการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง และมีความไม่ชอบธรรมคนที่ทำก็ต้องรับผิดชอบ เราต้องไม่ปล่อยให้คดีนี้ผ่านเลยไป เช่น หากมีผู้อยากดำเนินคดีกับพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน ต้องไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอสำนวนการสอบสวนทั้งหมดตั้งแต่ ชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พร้อมเหตุผลในการสั่งคดี เพื่อนำมาหาข้อพิรุธและข้อเคลือบแคลงที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ 

หากเป็นจริงก็สามารถส่งเรื่องฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และ ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ต่อไปได้ ซึ่งคดีนี้ควรต้องมีการตรวจสอบให้ถึงที่สุด เพราะความผิดสำเร็จแล้ว และคดียังมีอายุความอีกหลายปี ส่วนที่จะมีการนำเรื่องนี้ไปประเด็นต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนลงสู่ท้องถนนหรือไม่นั้น หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่อง ขาดความชอบธรรมจริง มีโอกาสที่จะถูกหยิบยกนำไปขยายผล ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้และต้องดูว่าผลการพิจารณาจะออกมาในทิศทางใด

อ่านเพิ่มเติม