ไม่พบผลการค้นหา
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ระบุปัญหาความสับสนวุ่นวายในสังคมขณะนี้ ต้นเหตุสำคัญคือ ผู้มีอำนาจ ผู้ร่างกฎหมาย ที่มีทัศนคติเป็นลบต่อประชาธิปไตย ไม่ยึดหลักนิติธรรม

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) และอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แสดงทัศนะผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีการกำหนดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. โดยระบุว่า สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของปัญหา เกิดจากกฎหมาย และผู้ร่างกฎหมายไม่ยึดหลักนิติธรรม ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และไม่มีความน่าเชื่อถือ

จาก คำพิพากษาของศาลฎีกา (แผนกคดีเลือกตั้ง) พิพากษาเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ไว้ตามรายละเอียดปรากฏตามคดีคำสั่งศาลฎีกา ที่๑๗๐๖/๒๕๖๒ โดยพิพากษา

ประเด็นที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต (ที่หนังสือบริคณห์สนธิ) ถือหุ้นในบริษัทที่มีการจดทะเบียนมีวัตถุประสงค์ ข้อหนึ่ง คือ ”ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์” ถือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๙๘(๓) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๒(๓) ที่บัญญัติว่า "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ"

ศาลฎีกาพิพากษาได้ยึดถ้อยคำตามลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นหลักการที่ชอบในของระบบกฎหมายที่ยึดลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ แม้ความจริง บริษัทฯที่ผู้สมัครในคดีดังกล่าวเข้าถือหุ้นนั้นไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนตามที่จดทะเบียนเลย แต่ประกอบกิจการเกี่ยวกับ "รับเหมาก่อสร้าง" ก็ตามศาลฎีกาก็ไม่รับฟังเหตุผลคำกล่าวอ้างดังกล่าว

ซึ่งความจริง ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนยังต้องมีขั้นตอนและกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะที่ต้องดำเนินการขออนุญาตอีกหลายขั้นตอนจึงจะสามารถประกอบกิจการได้ ตามกฎหมายพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และกฎหมายเฉพาะอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง จึงจะสามารถประกอบกิจการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ หรืออย่างการที่จะประกอบกิจการทำสถานีวิทยุและโทรทัศน์อาจต้องขออนุญาตจาก (กสทช) ทราบว่าได้นำประเด็นเสนอศาลแล้ว แต่ศาลฎีกาก็ไม่รับฟัง ได้ยึดถ้อยคำลายลักษณ์อักษรหมายอย่างเคร่งครัดตามคำพิพากษาดังกล่าว

กรณีที่มีนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องได้วิพากษ์วิจารณ์มีบางท่านอ้างถึง เจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๙๘(๓) และพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๒(๓) เพื่อป้องกันมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้ความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยอาศัยเหตุดังที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ดังกล่าวเข้าครอบงำสั่งการ แทรกแซง ชี้นำ ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด บิดเบือนข้อเท็จจริงปรักปรำให้ร้ายบุคคลอื่นในทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม และมิให้บุคคลดังกล่าวใช้วิธีการเอาเปรียบโดยใช้สื่อสิ่งพิมพ์ที่ตนเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นโดยไปครอบงำ หรือสั่งการในเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าก่อนหรือขณะหรือหลังจากเลือกตั้ง หรือใช้สื่อต่างๆ เพื่อกระทำการโน้มน้าว ชี้นำประชาชนให้เข้าใจไปในทางเป็นคุณแก่ตนเองและเป็นโทษแก่บุคคลอื่น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์อันเกิดจากกิจการดังกล่าวเพื่อตน ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบ จนอาจทำให้เกิดความแตกแยก ไม่สร้างสรรค์ในการดำเนินการทางการเมือง เกิดข้อขัดแย้งต่างๆ อันส่งผลร้ายให้กับผู้อื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องในทางการเมือง อันจะเกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อสังคมและประเทศชาติ ตลอดจนทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่บริสุทธิ์และยุติธรรมและเกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง

ซึ่งความเห็นหลายท่านน่าสนใจมีความสำคัญ แต่ถึงปัจจุบันเป็นเพียงเสียงสะท้อนไม่มีผลต่อคำพิพากษาเพราะคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกา(แผนกคดีเลือกตั้ง)แล้ว การจะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในเหตุลักษณะคดีกับข้อเท็จจริงเดียวกันจึงเรื่องยาก

ต้องยอมรับว่าปัญหาการเลือกตั้งมีมากหมาย เฉพาะที่เกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ ที่ขัดกับคุณสมบัติการเป็น ส.ส.ภายหลังจากคำพิพากษาของศาลฎีกา (แผนกคดีเลือกตั้ง) คำถามที่ตามมา เกี่ยวกับกฎหมาย เช่น ในเรื่องหลักความยุติธรรม ถือเป็นการใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักความยุติธรรมหรือไหม? เป้าประสงค์ของกฎหมายมุ่งดำเนินการกับบุคคลที่เป็นเจ้าของสื่อและผู้ที่บงการ สั่งการ ครอบงำสื่อที่แท้จริงกฎหมายเอื้อมถึงหรือไม่? แต่สิ่งที่สังคมคลางแคลงใจสงสัยมาก คือทำไมกฎหมายจึงมีความพิกลพิการ ผู้ที่เป็นเจ้าของสื่อหรือผู้ถือหุ้นที่แท้จริงกลับได้ประโยชน์จากกฎหมาย ที่ช่วยปกป้องฟอกตัวเองอยู่เหนือกฎหมายได้อย่างลอยนวล แต่คนที่ถูกดำเนินการไม่ใช่เจ้าของสื่อแต่ผิดเพราะกฎหมายเขียนให้ผิดเท่านั้น

หากจะสรุปถึงรากเหง้าของปัญหาความสับสนวุ่นวายในสังคมขณะนี้ เราควรมุ่งไปที่ต้นเหตุไม่ควรสนใจเฉพาะที่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุที่สำคัญคือ “กฎหมาย” กับ ผู้ก่อ ผู้บงการ ผู้ร่างกฎหมาย และสภานิติบัญญัติที่ไม่ได้มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ที่มีทัศนคติเป็นลบต่อประชาธิปไตย จึงสร้างกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งที่มีอคติ ใช้สำนึกส่วนตัวและมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมกดทับนักการเมืองให้มากที่สุดไปจนถึงชั้นคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และกฎหมายใช้ถ้อยคำภาษาไม่ชัดเจนแปลกหูแปลกตาจนสามารถตีความได้ต่างๆนาๆ ยิ่งผู้บังคับใช้กฎหมายและองค์กรอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยผู้มีอำนาจด้วยแล้ว การบังคับใช้กฎหมาย และกฎหมาย จึงเป็นเครื่องมือในการกดทับนักการเมืองและประชาชนเพื่อหวังส่งเสริมให้ผู้มีอำนาจได้สืบทอดและดำรงอำนาจต่อ แต่ทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี ไม่เป็นธรรม ไม่น่าเชื่อถือ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน