ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯสิงคโปร์เตือน รัฐบาลไบเดนไม่ควรเดินหมากท้าทายปักกิ่งอย่างแข็งกร้าว ชี้อาจนำไปสู่สิ่งที่อันตรายมาก

ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของคณะบริหารโจ ไบเดน ไม่ควรแสดงความท้าทายอย่างก้าวร้าวต่อรัฐบาลปักกิ่ง โดยนายกสิงคโปร์มองว่า ทัศนะแบบแข็งกร้าวมีแต่จะเพิ่มการเผชิญหน้าขึ้นเรื่อยๆระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่สิ่งที่อันตรายมาก

นายกฯลีกล่าว่า การที่สหรัฐฯเริ่มใส่เกียร์เดินหน้ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่มุ่งแข่งขันกับจีนอย่างมุ่งมั่น นั้นหันไปสู่ความคิดที่ว่าอเมริกาต้องชนะ หรือเหนือจีนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

"ทุกวันนี้พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสอง (ของสหรัฐฯ) มีฉันทามติเห็นพ้องอยู่เรื่องหนึ่ง คือประเด็นความสัมพันธ์กับจีน .. ทว่าจุดยืนของพวกเขาเหล่านั้นคือการใช้แนวทางแข็งกร้าว ผมไม่แน่ใจนักว่ามันเป็นฉันทามติที่ถูกต้องแล้ว"

"ผมไม่ทราบว่า อเมริกันจะตระหนักถึงความเป็นจริงบางหรือไม่ว่า พวกเขา (จีน) จะเป็นปรปักษ์ที่น่าเกรงขามแค่ไหนที่พวกเขาต้องรับมือ หากว่าอเมริกันตัดสินใจลงไปว่า จีนคือศัตรูรายหนึ่ง" 

"ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมจะขอพูดกับทั้งสองฝ่ายว่าควรกดปุ่ม 'พอซ' (pause) คิดกันให้รอบคอบก่อนที่พวกคุณจะกดปุ่ม 'ฟาสต์-ฟอร์เวิร์ด' (fast forward) เพราะมันจะอันตรายมาก"

"เป็นเรื่องสำคัญมากที่จีนกับสหรัฐฯ ควรเพียรพยายามและอดกลั้นต่อการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเอาไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน ซึ่งก่อให้เกิดความวิบัติหายนะแก่ทั้งสองฝ่าย รวมถึงทั้งโลกด้วย" ตอนหนึ่งที่นายกฯสิงคโปร์กล่าวระหว่างการประชุมความมั่นคงแอสเพน (Aspen Security Forum)

นายกสิงคโปร์ยังมองว่า ผู้หนึ่งที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในความสัมพันธ์ของทั้งจีนและสหรัฐก็คือ ผู้นำของทั้งสองชาติ ทัศนะแบบแข็งกร้าวของทีมบริหารวอชิงตันที่มีต่อจีนนี้ กำลังผสมโรงกับความเชื่อของฝ่ายจีนที่มองสหรัฐฯ ว่าไม่สามารถไว้วางใจอเมริกันได้ และต้องสกัดกันความพยามในการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกของวองชิงตัน 

"ความเป็นจริงก็คือไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่สามารถดูหมิ่น หรือหมายบดขยี้อีกฝ่ายหนึ่งได้หรอก" ลี กล่าว ทั้งแนะนำให้รัฐบาลไบเดน หวนกลับสู่ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่เป็นแบบแผนมากขึ้น "หลายชาติต่างเฝ้ามอความคงเส้นคงวาด้านยุทธศาสตร์การทูตระยะยาวจากสหรัฐญฯ หลังจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้" นายลี กล่าวถึงความยุ่งเหยิงที่เกิดขึ้นจากนโยบายต่างประเทศยุคทรัมป์

"ผมคิดว่าเรื่องนี้มีอันตราย อันตรายที่ว่าคือการคาดคำนวณผิดพลาดอย่างมโหฬาร ผมคิดว่าถ้าหากมีการระมัดระวังคอยประคับประคองจุดยืนกันเอาไว้อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอแล้ว เราสามารถประคับประคองสันติภาพและเสถียรภาพของสองฟากช่องแคบไต้หวันเอาไว้ได้"

ข้อคิดเห็นของนายกลี มีขึ้นเพียงไม่นานหลังพล.อ. ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เสร็จสิ้นกำหนดการเยือนสามชาติอาเซียนคือ สิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะเดียวกันหลังไบเดนส่งรมว.กลาโหมเสร็จสิ้นการเยือนอาเซียนไม่นาน ทำเนียบขาวได้เตรียมส่งรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส เยือนสิงคโปร์ และเวียดนาม ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญคือเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง บรรดาชาตินาโต้ฝั่งยุโรปอาทิ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ก็ส่งกองเรือรบเข้ามายังพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเดินเกมด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ที่มา: Bloomberg , CTGN