ไม่พบผลการค้นหา
กองทัพเรือได้ทำการเชิญเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และลากจูงเรือไปเก็บที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

กองทัพเรือได้เชิญเรือพระราชพิธีจากท่าวาสุกรี จำนวน 6 ลำ และจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธีฯ จำนวน 4 ลำ รวมทั้งหมด 10 ลำ เป็นเรือคู่ชักจำนวน 2 ลำ ประกอบด้วย เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง และเรือรูปสัตว์จำนวน 8 ลำ ประกอบด้วย เรือครุฑเหินเห็จ. เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี โดยลากจูงไปยังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ

สำหรับเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ มีกำหนดการเชิญลงน้ำและเคลื่อนย้ายเรือ ดังนี้

วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เชิญเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ลงน้ำและเลื่อนมาเทียบบริเวณท่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 เชิญเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี และลากจูงไปยังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ และเชิญเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลงน้ำ และเลื่อนมาเทียบบริเวณท่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เชิญเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี และลากจูงไปยังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ และเชิญเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ลงน้ำ และเลื่อนมาเทียบบริเวณท่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี

วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 เชิญเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และลากจูงไปยังอู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ

สำหรับกำหนดการฝึกซ้อมย่อยในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 10 ครั้ง ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2562 - 10 ตุลาคม 2562 และกำหนดการซ้อมใหญ่ จำนวน 2 ครั้ง ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และ 21 ตุลาคม 2562 ตามที่มีประกาศสำนักพระราชวัง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งมีการเสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถือเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย และการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มอบภารกิจในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

ในครั้งนี้ให้กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานอนุกรรมการและมีหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ เช่นกรมศิลปากร กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานราชการในพระองค์เป็นที่ปรึกษาและอนุกรรมการคอยให้คำปรึกษาและข้อแนะนำการปฏิบัติต่าง ๆ ให้แก่คณะอนุกรรมการ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ โดยการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคได้จัดเตรียมเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น จำนวน 52 ลำ โดยมีเรือที่สำคัญเป็นเรือพระที่นั่งได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ ยังมีเรือพระราชพิธีอื่นด้วยเช่น เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น

ทั้งนี้ในส่วนของ คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ได้ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนเรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ นั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 7 ปี ที่ได้ว่างเว้นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค โดยกองทัพเรือได้ร่วมกับกรมศิลปากร สำรวจสภาพเรือพระราชพิธีแล้ว มีสภาพชำรุด ทรุดโทรมมาก เช่น เรือมีรอยแตก ตัวเรือบิด เป็นต้น ในการนี้กองทัพเรือจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการซ่อมทำบูรณะเรือพระราชพิธี โดยแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนการซ่อมตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ และส่วนการตกแต่งตัวเรืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากร โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ปัจจุบันได้ดำเนินการซ่อมบูรณะเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เรือพระราชพิธีทั้ง 52 ลำ อยู่ในสภาพพร้อม ที่เข้าร่วมพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้

ด้านกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ได้คัดเลือกกำลังพลจากหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือจำนวน 2,200 นาย เป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธี ซึ่งเป็นกำลังพลของกองทัพเรือทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นกำลังพลที่ไม่เคยเป็นกำลังพลประจำเรือพระราชพิธีมาก่อน และได้มีการฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปัจจุบันได้รับการฝึกความคุ้นเคยกับเรือภายในหน่วยเสร็จสิ้นแล้ว และทำการฝึกซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา โดยเป็นการฝึกซ้อมการเข้ารูปขบวน และการเดินทางเป็นรูปขบวนเดินทางตามลำดับ เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงของเรือในขบวนเรือพระราชพิธี มีกำหนดการซักซ้อมในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีความพร้อมที่ปฏิบัติงานในวันพระราชพิธีฯ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ที่ได้เตรียมไว้เป็นเส้นทางเดียวกับที่เคยใช้มาตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ เส้นทางจากท่าวาสุกรี ถึง วัดอรุณราชวราราม โดยการซ้อมย่อยเป็นรูปขบวนในแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่. 22 สิงหาคม 2562

ด้านการเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ เป็นการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

- ริ้วสายกลาง ซึ่งเป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ มีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้มีเรืออีเหลือง เรือกลองนอก เรือแตงโม ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เรือกลองใน พร้อมด้วยเรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน

- ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ และปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก

- ริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้ง และเรือแซง สายละ 14 ลำ รวมทั้งสิ้น 52 ลำ

ทั้งนี้ เรือทุกลําทำจากไม้ มีอายุในการสร้างมายาวนาน โดยเฉพาะเรือพระที่นั่งทั้ง 3 ลํา กล่าวคือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างในรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 102 ปี เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จสิ้นในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 108 ปี เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช สร้างในรัชกาลที่ 6 มีอายุ 95 ปี เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2539 มีอายุ 23 ปี ส่วนเรืออื่น ๆ ในขบวน

โดยเฉพาะเรือรูปสัตว์แต่ละลำที่มีอายุการสร้างนับร้อยปี การบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ถือเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันต่อมา เป็นพิธีกรรมในการยอมรับนับถือ และให้การคารวะบูชาต่อพระภูมิเจ้าที่ที่ปกปักรักษา ดูแล คุ้มครอง ป้องกันสถานที่นั้น ๆ พิธีกรรมเป็นการสวดอาราธนาบารมีพระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพ และเทพพรหมเทวา รวมถึงท้าวจตุมหาราชผู้เป็นใหญ่ในทิศทั่วทั้ง 4 ลงมาประทับ ณ สถานประกอบพิธีนั้น ๆ พิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือเป็นพิธีที่ชาวเรือมีความเชื่อกันมาแต่โบราณ ว่า เรือทุกลำ มีแม่ย่านางเรือสิงห์สถิตอยู่ คอยปกปักรักษา คุ้มครองป้องกันอันตรายทั้งปวงที่จะเกิดแก่เรือ ก่อนออกเรือทุกครั้งหรือการนำเรือไปใช้งาน จึงมักกระทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือหรือบูชา แม่ย่านางเรือก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญ กำลังใจ แก่กำลังพลประจำเรือ ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันต่อเนื่องมา

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ประชาชนจะได้สัมผัสบรรยากาศแห่งความงดงามตระการตาของริ้วขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติไทย ซึ่งถูกถ่ายทอดด้วยศิลปกรรม ประติมากรรม ที่วิจิตรบรรจงในการสลักเสลาจนเป็นลำเรือที่อ่อนช้อย งดงามเมื่อนำมาผนวกกับกาพย์เห่เรือที่ถูกร้อยเรียงด้วยถ้อยคำอันสละสลวยงดงามตามฉันทลักษณ์ ขับขานด้วยเสียงที่ดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำ โดย นาวาเอก ณัฐวัฎ อร่ามเกลื้อ ประกอบกับความพลิ้วไหว และพร้อมเพรียงของฝีพายทำให้บรรยากาศทั่วทั้งบริเวณที่ขบวนเรือแล่นผ่านประดุจดังเมืองสวรรค์ สายน้ำที่นิ่งสงบทอดยาวจากเหนือจรดใต้ ถูกทาบทาด้วยขบวนเรือ อันงดงาม ยิ่งใหญ่ ตระการตา ซึ่งภาพที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะถูกถ่ายทอดแก่สายตาของชาวไทยอีกครั้งหนึ่งในพระราชพิธี เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน