ผลการจัดอันดับค่าครองชีพของดิอีโคโนมิสต์ประจำปี 2018 พบว่าเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปและเอเชียมีค่าครองชีพสูงแทบไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งการสำรวจอาศัยปัจจัยด้านสินค้าและบริการกว่า 150 ประเภทเป็นเกณฑ์ รวมไปถึงราคาไวน์ ราคาขนมปัง ราคาบุหรี่ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
การเปรียบเทียบค่าครองชีพเมืองต่างๆ ทั่วโลกจะอิงจากราคาสินค้าและบริการในนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ซึ่งถูกใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน
จากการสำรวจพบว่าค่าครองชีพของเมืองต่างๆ ในเอเชียต่างมีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็ว ทำให้ 3 เมืองในเอเชียติดอยู่ใน 9 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และกรุงโซลของเกาหลีใต้
สิงคโปร์ครองแชมป์เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา หลังจากที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเคยครองแชมป์มาก่อน ขณะที่ค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น รวมไปถึงเงินปอนด์ที่อ่อนลง ทำให้กรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ กลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงกว่ากรุงลอนดอนของอังกฤษเป็นครั้งแรกในปีนี้
ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงเช่นเดียวกัน ทำให้นครนิวยอร์กและนครลอสแอนเจลิสที่เคยติดอยู่ใน 10 อันดับเมืองค่าครองชีพแพงในปีก่อนๆ ตกลงมาอยู่อันดับที่ 13 และ 14
10 อันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก
ขณะที่กรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย เป็นเมืองที่ค่าครองชีพที่ต่ำที่สุด ตามด้วยกรุงการากัสของเวเนซุเอลา เมืองอัสมาตีของคาซักสถาน และกรุงลากอสของไนจีเรีย โดยเมือเหล่านี้ได้รับผลกระทบทางการเมืองและประสบกับภาวะล้มเหลวทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ เมืองบังกาลอร์ กรุงนิวเดลี และเชนไนของอินเดียก็ติดกลุ่มเมืองที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน โดยในรายงานให้เหตุผลว่า แม้อินเดียจะมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่อัตราการเติบโตขององค์ประกอบต่างๆ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานยังขยายตัวต่ำ และสิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับอัตราค่าครองชีพของประชาชนด้วย
(สภาพบ้านเรือนในซีเรียหลังจากการสู้รบไม่มีท่าทีว่าจะสงบในเร็ววัน)