ไม่พบผลการค้นหา
เปิดไทม์ไลน์ 3 ยุค จากปี 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณ 'โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค' ไม่ใช่แค่เพียงนโยบายขายฝัน ที่หวังโกยคะแนนจากสนามเลือกตั้ง

หลังจาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหนึ่งในผู้ผลักดันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเล่าถึงที่มาของโครงการ ทางกองบรรณาธิการวอยซ์ทีวีได้รวบรวมลำดับเวลาของโครงการดังกล่าวตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงยุคที่มีกระแสว่าจะล้มโครงการ

ยุคริเริ่มโครงการ 30 บาทรักษา

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรืออีกชื่อที่คุ้นหูคือ '30 บาทรักษาทุกโรค' เกิดจากแนวคิดของกลุ่มคนที่คลุกคลีในแวดวงการแพทย์ที่พบว่าความเจ็บป่วยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนไหนของประเทศ ที่รัฐควรปฏิรูประบบบริการของสาธารณสุข เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการรักษาความเจ็บป่วย 

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2544 โดยมีคีย์แมนสำคัญคือ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ หมอเลี๊ยบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายที่ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และสามารถจับต้องได้ทุกชนชั้น 

นพ.สุรพงษ์ ได้เล่าย้อนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ามีการเสนอนโยบายหลักประกันสุขภาพในหลายพรรคการเมือง แต่สุดท้ายพรรคไทยรักไทยก็รับโครงการดังกล่าวไปต่อยอดแนวคิด และทำให้เกิดขึ้นจริงโดยไม่ใช่แค่เพียงการขายฝัน เพื่อหวังโกยคะแนนนิยมในการช่วงชิงคะแนนในสนามเลือกตั้ง และการมองเห็นความสำคัญของปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ของอดีตนากฯทักษิณ จึงเป็นที่มาของบทสนทนาที่ว่า 

"หมอ...เรามาลุย 30 บาทกัน" ภายหลังผลการลงคะแนนเลือกตั้ง นโยบาย30บาทรักษาทุกโรค ได้ชี้วัดว่าพรรคไทยรักไทย คว้าชัยชนะในเกมการเลือกตั้ง

ไร้ชื่อ 'ทักษิณ' เข้าสู่ยุครีแบรนด์ประชานิยมเงา

ในปี2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คมช.) ซึ่งนำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้นได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร และต่อมาพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศ

ซึ่งการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลคมช. เข้าสู่ยุครีแบรนด์ลบโครงการประชานิยม จากพรรคไทยรักไทย โดยมีแนวคิดพยายามผลักดันให้มีการยกเลิกโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยการเปลี่ยนมาเป็น “รักษาฟรีทุกโรค” ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหาร ซึ่งมีการมองว่านโยบายดังกล่าวไม่ได้ต่างจากการทำประชานิยม

เข้าสู่ยุค 'คสช.'ความวิตกของผู้เจ็บป่วย

ผ่านไป 16 ปี โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ยังคงถูกพูดถึงในทุกพื้นที่ของประเทศ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัยหลากหลายรัฐบาล แต่คงไม่มีเสียงสะท้อนที่ดังมาจากภาคประชาชนในปัจจุบัน ที่ออกมาคัดการการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะมีกระบวนการล้มเลิกโครงการ 30 บาท ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ถึงแม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จะยืนยันว่าไม่มีการล้มเลิกแนวคิดดังกล่าวแน่นอน แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าชะตากรรมของประชาชน จะอยู่ในรูปแบบใด หากการแก้ไขกฎหมายยังไม่ถูกตีตกจากคณะพิจารณา

ด้านพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทย์สภาให้ความเห็นว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่ดี อย่างไรก็ตามการวางแผนยังพบว่ามีข้อบกพร่องอยู่ เนื่องจากรัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตัวเองหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

ขณะเดียวกันปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ได้รับสิทธิ 48 ล้านคน รัฐบาลควรช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และควรวางแผนการใช้งบประมาณที่ไม่สิ้นเปลือง เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่พบว่ามีการเบิกยาไปแต่ไม่ได้ใช้ ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์

นอกจากนี้สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในระบบกระทรวงสาธารณสุข การใช้งบประมาณที่ผ่านมาควรได้รับการตรวจสอบอย่างมีธรรมาภิบาลและโปร่งใส ไม่สร้างความคลุมเครือต่อสังคม

ขอบคุณภาพ ...กรมประชาสัมพันธ์

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog