นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แกนนำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด มหาชน หรือ CAT และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน พร้อมด้วยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจอื่นๆ กว่า 20 องค์กร เดินทางมายังศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล กว่า 500 คน เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการจัดตั้งบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต หรือ NGDC และบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ หรือ NBN
พร้อมทั้ง ขอให้พิจารณาตรวจสอบเพื่อระงับหรือชะลอการโอนทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักของ CAT และ ทีโอที ที่อาจขัดต่อกฎหมายและมติของคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. แม้ว่าจะมีการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ การแปรรูปหรือแปรสภาพบริษัทสามารถทำได้ แต่ควรมีการบริหารจัดการที่ดี และไม่ควรแปลงสมบัติของชาติไปให้กับนายทุน โดยเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายและมติ ครม. ทั้ง 7 ข้อ ประกอบไปด้วย
1.ขอให้มีคำสั่ง ยกเลิก หรือเพิกถอนการจัดตั้งบริษัท NBN และบริษัท NGDC
2.ขอให้มีคำสั่งระงับ การแยกหรือการโอนทรัพย์สิน ทรัพยากรที่มีค่าของ ทีโอที ไปให้บริษัท NBN และบริษัท NGDC
3.ขอให้มีคำสั่งระงับ การแยกหรือการโอนทรัพย์สิน ทรัพยากรที่มีค่าของ CAT ไปให้บริษัท NBN และบริษัท NGDC
4.ขอให้ ตรวจสอบ สัญญาจ้างเหมาบริการบำรุงรักษาโครงข่ายในพื้นที่นครหลวง ระหว่าง ทีโอที (ผู้ว่าจ้าง) กับ บริษัท NBN (ผู้รับจ้าง) วงเงินตามสัญญา 38,220,400 บาท ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย หรือ ทำให้รัฐ เสียประโยชน์
5.ขอให้ตรวจสอบการโอนย้ายพนักงาน ทีโอที ไปปฏิบัติงานที่บริษัท NBN โดยถาวร โดยเพิ่มเงินเดือนให้ 15 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนที่พนักงานได้รับจาก ทีโอที ทำให้รัฐมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น
6.ขอให้ตรวจสอบ กรณีที่ผู้บริหาร ทีโอที 7 คน ลาออกจาก ทีโอที ไปปฏิบัติงานเป็นผู้บริหารบริษัท NBN ที่ได้เงินเดือนมากกว่าที่ได้รับจาก ทีโอที 15 เปอร์เซ็นต์ โดยคำสั่งลาออกของทีโอที มีผลย้อนหลัง ทำให้รัฐมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น
และ 7. ขอให้ ตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร ทีโอที และผู้บริหาร บริษัท NBN ว่าเข้าลักษณ์การขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือ เข้าข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยืนยันว่าจะยืนหยัดปกป้องทรัพย์ของประชาชนและสนับสนุนองค์กรรัฐวิสาหกิจ ทั้ง 2 แห่งให้ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ CAT และ TOT จัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน
โดยมติ ครม.ระบุให้ NBN และ NGDC ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ คำสั่ง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรี ที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆ เพื่อให้ NBN และ NGDC มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ สามารถแข่งขันกับเอกชนได้