ไม่พบผลการค้นหา
ชวนเจ้าของเพจดัง 'TaxBugnoms' คุยกันเล่นๆ แต่จริงจังมาก ว่าทำไมคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ประจำ แม้เงินเดือนน้อยไม่ถึงเกณฑ์ภาษี ก็ควรยื่นภาษี ยิ่งใกล้ช่วงยื่นแบบแสดงรายได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2560 ด้วยแล้ว ยิ่งต้องอ่าน

เข้าสู่ช่วงเกือบโค้งสุดท้ายของเดือน มี.ค.ทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เงินเดือน ผู้มีเงินได้ ต่างมีภาระทางสังคมในฐานะพลเมืองแห่งรัฐ 'ต้อง' ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีอายุงานไม่มาก รวมถึงมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี เพราะรัฐยกเว้นภาษีให้กับผู้มีรายได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 150,000 บาท อาจจะโอดครวญเป็นเสียงเดียวกันว่า รายได้ก็แค่นี้ จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเพื่อ? ...

คำถามคาใจมนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ เหล่า Frist Jobber ตั่งต่างนี้ ต้องมีคำตอบ !!

'วอยซ์ ออนไลน์' จึงชวน 'ถนอม เกตุเอม' ผู้เขียนเพจ TaxBugnoms กูรูภาษีจาก aomMONEY (ออมมันนี่) มาช่วยตอบคำถาม ค้นหา 5 เหตุผล ทำไมมนุษย์เงินเดือนต้องยื่นภาษี

หนึ่ง : กฎหมายกำหนด

'ถนอม' เริ่มต้นข้อแรกแบบง่ายๆ หรือจะเรียกว่า ตอบกำปั้นทุบดินเลยก็ได้ว่า มีรายได้ต้องยื่นแบบแสดงภาษี โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 120,000 บาท เพราะกฎหมายกำหนดให้คุณต้องยื่นแบบแสดงภาษี แม้โดยรายได้สุทธิแล้ว คนกลุ่มนี้จะไม่เสียภาษีก็ตาม แม้บางคนจะเข้าใจผิดว่า เงินเดือนไม่เกิน 26,000 บาท หรือคิดเป็นปีก็ประมาณ 300,000 บาทนิดๆ พอคำนวณค่าลดหย่อนต่างๆ ที่รัฐให้ แล้วคำนวณออกมา มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ก็ไม่ต้องเสียภาษีก็ตาม

แต่ความจริงคือ คนกลุ่มนี้ควรจะยื่นแบบแสดงเงินได้ เพราะกฎหมายกำหนด 


"อันนี้เป็นข้อแรกที่คุณควรรู้ ซึ่งถามว่า เงินค่าปรับเยอะมั้ย มันก็ไม่เยอะหรอก แต่สิ่งที่คุณเสียไป คือ คุณอาจไม่ได้รู้ตัวเองเลยว่า คุณควรทำอะไร แล้วแค่เรื่องพื้นฐานเริ่มแรก ง่ายที่สุด ยังไม่ได้เริ่ม มันก็อาจจะเป็นปัญหาในอนาคตได้"


วันนี้มนุษย์เงินเดือนหน้าใหม่ คนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน อาจจะบอกว่า เงินเดือนแค่ 15,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ยื่นดีกว่า แต่ถามว่าคุณจะมีรายได้แค่ 15,000-26,000 บาท อย่างนี้ไปตลอดชีวิตเหรอ ซึ่งเอาจริงๆ คุณจะไม่ยื่นก็ได้ ถ้าเป็นความสุขคุณ แต่โจทย์ของชีวิตคือ ถ้าอนาคตรายได้เพิ่มขึ้น คุณก็ต้องเสียภาษี แล้วจะยื่นอย่างไร แล้วอนาคตหากมีค่าปรับ มันก็จะยุ่งไปอีกด้วยซ้ำ


อัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดา

สอง : เป็นข้อมูลแก่รัฐ

เหตุผลข้อต่อมา คือ การยื่นภาษีจะช่วยให้รัฐมีข้อมูลรายได้ของบุคคลหรือประชาชนในประเทศ เพื่อให้รัฐได้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับนำไปคิดพิจารณาวางแผนเศรษฐกิจ ออกแบบนโยบายต่างๆ หรือเพื่อได้รู้ว่าคนกลุ่มไหนรายได้เท่าไร และคนรายได้น้อยมีจำนวนเท่าใด เพื่อกำหนดสวัสดิการต่างๆ


"เราจะเห็นคนแชร์ข้อมูลกันในโซเซียลว่า คนไทยที่เสียภาษี มียื่นแบบแสดงรายได้แก่รัฐแค่ 4 ล้านคน ทั้งที่มี 60 ล้านคน ซึ่งมันน้อยมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือ การที่คุณไม่ยื่นแบบแสดงรายได้ มันก็เป็นปัญหาในตัวเองแล้ว เพราะทำให้รัฐไม่มีข้อมูลที่แท้จริงว่าประชากรในประเทศมีรายได้เท่าไร มีอะไรบ้าง รัฐจะไม่รู้เลย ถ้าทุกคนไม่ยื่นภาษี"


สาม : เป็นประโยชน์กับตัวเอง ช่วยกู้ง่ายขึ้น รู้พัฒนาการสร้างฐานะตัวเอง

เหตุผลข้อที่สาม เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงสำหรับมนุษย์เงินเดือนผู้ยื่นแบบแสดงรายได้ เช่น ถ้าอนาคตทำงานมาสักพักแล้ว ต้องการกู้สินเชื่อซื้อบ้าน การยื่นภาษี ทำให้เราได้แสดงหลักฐานด้านรายได้ของเราให้สถาบันการเงินได้รับรู้ ยกตัวอย่าง คนที่มีงานประจำแต่เงินเดือนไม่มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีงานพิเศษเป็นฟรีแลนซ์ทำอย่างอื่นด้วย การที่ยื่นภาษีก็ต้องแสดงทั้งรายได้ประจำและรายได้อื่นๆ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลส่งให้สถาบันการเงินใช้พิจารณาสินเชื่อได้ และทำให้สถาบันการเงินเห็นว่า เรามีรายได้พอที่จะสามารถชำระหนี้เงินกู้ได้หรือไม่ด้วย

"อย่างผม เป็นมนุษย์เงินเดือนที่เงินเดือนไม่เยอะ แต่เป็นฟรีแลนซ์ด้วย บอกตรงๆ ว่า ถ้าใช้หลักฐานเฉพาะเงินเดือนของผมเอง กู้ซื้อบ้านราคาที่ต้องการในวันนี้ ยื่นเอกสารไป แบงก์ก็ไม่อนุมัติสินเชื่อ แต่เนื่องจากผมเสียภาษีแสดงรายได้ทั้งประจำและฟรีแลนซ์ด้วย ปีๆ หนึ่งก็เสียภาษีเยอะมาก กลายเป็นว่า ผมกู้บ้านสบายเลย ขอสินเชื่อกี่ทีก็ผ่าน เพราะเวลายื่นภาษีแล้วแสดงรายได้อื่น แบงก์ก็เห็นว่า เรามีรายได้เยอะ ประกอบกับมันมีความเชื่อหนึ่งว่า รายได้ที่ยื่นภาษี มันจะน้อยกว่ารายได้ที่มีจริงๆ ดังนั้น พอแบงก์เห็นหลักฐานตรงนี้ เขาก็พร้อมจะปล่อยกู้ให้" 

ดังนั้น สำหรับมนุษย์เงินเดือน ที่คิดถึงอนาคตว่าจะต้องมีการสร้างหนี้ ซื้อบ้าน ซื้อรถ การยื่นภาษีก็ช่วยได้ 


ธุรกิจ

อีกอย่างคือ การนำข้อมูลรายได้เหล่านี้มายื่นภาษี ทำให้คนๆ นั้นรู้ว่า รายได้แต่ละปีของเขามีเท่าไร เขาต้องเก็บเอกสารหลักฐาน เพื่อนำมายื่นภาษี ซึ่งมันเป็นพื้นฐานที่ดี ให้คุณได้รู้ตัวเองว่าแต่ละปีมีรายได้เท่าไหร่ มีอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง รู้ว่าตัวเองมีพัฒนาการอย่างไร แล้วมันก็ดีกับตัวเอง แค่เราเก็บเอกสารต่างๆ มายื่นภาษี ซึ่งมันเหมือนการบังคับหรือสร้างวินัยให้กับตัวเองตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน  

สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ เป็นตัวช่วยมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะคนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ตั้งแต่ 1.ช่วยสร้างวินัยทางการเงิน ทำให้คุณรู้จักวางแผนการลงทุน 2.ช่วยลดหย่อนภาษี และ 3. ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน หากมีการศึกษาเพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้คือประโยชน์ที่มนุษย์เงินเดือนจะได้ มีเรื่องเสียอย่างเดียวคือ "เสียเวลาศึกษาทำความเข้าใจมันเท่านั้นเอง" 

"มันทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง ในแต่ละปี ว่าเราได้วางแผนชีวิต วางแผนการเงินของเราดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนมั้ย อย่างปีนี้ผมยื่นภาษีแล้วเสียน้อยลงจากปีก่อนประมาณ 4 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งที่รายได้ไม่ได้ลดลง แถมมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ที่เสียภาษีได้ลดลง เพราะผมวางแผนลดหย่อนดีขึ้น ต่างจากปีที่แล้วที่เสียภาษีเยอะมาก แล้วเครียดเลยนะ เพราะเป็นกูรูภาษีแต่เสียภาษีเยอะ ดังนั้นปีภาษี 2560 ผมจึงวางแผนตั้งแต่ต้นปี 2560 เซ็ตเป็นระบบ ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นว่า รายได้เราเพิ่มขึ้น แต่เสียภาษีลดลงจากปีก่อนถึง 4 เท่า มันทำให้เรารู้ว่าเรามีคุณค่า มีพัฒนาการมากขึ้น และเราก็ได้ประโยชน์จากมันมากขึ้น" ถนอมกล่าว

สี่ : สร้างอนาคตมนุษย์เงินเดือน

ข้อสี่ ก็คือการสร้างอนาคตระยะยาว เพราะตัวลดหย่อนต่าง ๆ ที่มีหลัก ๆ 3 อย่าง ได้แก่ การลงทุนระยะยาว การป้องกันความเสี่ยง และการลงทุนเพื่อการเกษียณ สิ่งเหล่านี้เราสามารถวางแผนจัดการได้ เมื่อเรารู้จักการยื่นภาษี เพราะเรื่องภาษีเป็น 1 ใน 6 เรื่องการวางแผนการเงิน 

อย่างการลงทุนระยะยาว เช่น การซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว หรือ LTF นอกจากได้ลดหย่อนภาษีก็ยังเป็นการวางแผนการลงทุนสำหรับอนาคต ส่วนการป้องกันความเสี่ยง เช่น จากการซื้อประกันชีวิต และปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีประกันสุขภาพ สามารถนำค่าเบี้ยประกันมาหักลดหย่อนได้ ก็เป็นอีกทางเป็นประโยชน์สำหรับอนาคต ส่วนการวางแผนรับเกษียณ เช่น การซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทต่างๆ มีให้ มันก็เป็นอีกช่องทางที่จูงใจให้คุณเก็บเงิน 

แม้การเก็บเงินเหล่านี้ในวันนี้ มันจะเป็นเงินไม่เยอะมาก แต่ถ้าเอาเงินเหล่านี้ไปลงทุนถูกที่ ถูกวิธี พอถึงวันที่คุณเกษียณ คุณก็จะมีเงินก้อน ซึ่งมันก็จะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเอง 


ถนอม เกตุเอม Taxbugnoms

ห้า : เป็นความรับผิดชอบต่อตนเอง และประเทศชาติ

ข้อสุดท้าย 'ถนอม' บอกว่า เหตุผลการยื่นภาษีคือจะเป็นประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อส่วนรวม เพราะการยื่นเอกสารหลักฐานเหล่านี้ มันจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน ก็เป็นความรับผิดชอบต่อตนเองในฐานะผู้มีรายได้ เพราะเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นภาษี มันเป็นการเตรียมตัวด้านการวางแผนทางการเงินด้วย แล้วบอกเลยว่า ภาษีเป็น 1 ใน 6 เรื่องการวางแผนทางการเงิน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจยากในช่วงแรก แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะเข้าใจเลย เหมือนการขับรถหรือขี่จักรยานนั้นแหละ

พร้อมกับย้ำว่า ทันที่ที่ทำเรื่องภาษีเป็น คุณไม่ต้องกังวลกับเรื่องใดๆ ทางการเงินในชีวิตหลังจากนี้แล้ว เพราะเรื่องภาษีจะเป็นตัวต่อยอดไปสู่การวางแผนชีวิต วางแผนการเงินอื่นๆ ได้ ถ้าออกจากมนุษย์เงินเดือนไปเป็นฟรีแลนซ์ ก็วางแผนการเงินได้ หรือจากฟรีแลนซ์ไปทำกิจการส่วนตัว ก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะทำภาษีเป็น สามารถบริหารจัดการได้ 

สิ่งเหล่านี้จะช่วยบ่มเพาะและเป็นประโยชน์กับอนาคตของมนุษย์เงินเดือน โดยเฉพาะคนเพิ่งเริ่มต้นทำงานประจำ


"ภาษีจึงเหมือนเป็นกรอบหนึ่งที่ทำให้คุณหันมาใส่ใจเรื่องเงินตัวเองในทางอ้อมๆ แล้วคุณจะมองตัวเองเห็นภาพชัดขึ้น เพราะเวลายื่นภาษีแต่ละปี คุณจะมาดูตัวเองเลยว่า ฉันพัฒนาขึ้นหรือเปล่า รายได้ฉันดีขึ้นหรือเปล่า มันจะเห็นชัด แต่ถ้าคุณไม่เคยยื่นภาษี ไม่จดอะไรเลย และทุกวันนี้ก็มีกินมีใช้ดีอยู่ คุณอาจจะมีความสุขดี แต่จริงๆ แล้วคุณภาพชีวิตคุณดีหรือเปล่า คุณอาจจะตอบไม่ได้ เพราะคุณไม่มีข้อมูล"


อีกอย่าง เมื่อแต่ละคนเสียภาษีถูกต้อง ประเทศชาติได้เงินภาษีไป มันก็จะทำให้สังคมดีขึ้นด้วย แต่ย้ำว่า ต้องแยกเรื่องการเสียภาษีกับการใช้เงินภาษี เพราะการเสียภาษี เป็นหน้าที่ตามกฎหมายของพลเมือง ส่วนการใช้เงินภาษี เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยกันสร้างระบบตรวจสอบ

ไม่ใช่ว่าเห็นคนนำเงินภาษีไปใช้ไม่ถูกแล้วจะไม่ยอมเสียภาษี แล้วอย่างนี้ ประเทศชาติจะอยู่กันอย่างไร เป็นข้อคิดทิ้งท้ายให้ไปช่วยกันคิดตาม 

ยื่นภาษีทางอินเตอร์เน็ตสิ้นสุด 9 เม.ย. นี้ 

สำหรับผู้มีรายได้ที่ต้องการยื่นภาษีปีนี้ ผู้ที่ต้องการยื่นกระดาษ จะทำได้ถึงวันที่ 31 มี.ค. ส่วนการยื่นภาษีผ่านอินเตอร์เน็ตจะทำได้ถึงวันที่ 9 เม.ย. ดังนั้น มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย อย่าลืมกากบาทบนปฏิทิน พิมพ์เตือนใน calendar โทรศัพท์ว่า "เวลาการยื่นภาษีใกล้สิ้นสุดแล้ว อย่าลืมจัดการให้เรียบร้อยกันซะล่ะ"