พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบบริษัทดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด (สำนักงานใหญ่) ตั้งอยู่ เลขที่ 33 หมู่ 12 ต.แปลงยาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา หลังพบลักลอบทำลายและคัดแยกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และนำเข้าขยะอุตสาหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยโรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีรั้วรอบขอบชิดบนเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ มีแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอุตสาหกรรมใส่ถุงบิ๊กแบ็กวางตากแดดอยู่บนพื้นดินรอบๆเป็นจำนวนมาก ขณะที่ตัวโกดังโรงงานคัดแยกเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่
เมื่อตรวจสอบภายใน พบคนงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา และลาว ประมาณ 258 คน กำลังทำการคัดแยก แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และขยะอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ คนงานบางส่วนกำลังอยู่ที่เตาปิ้ง หรืออุปกรณ์หลอมสารตะกั่วออกจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนคัดสิ่งไม่ต้องการทิ้ง เหลือไว้เพียงแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปคัดแยกเอาทองคำอีกขั้นตอนหนึ่ง
ส่วนเศษกากวัสดุขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ ถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าทำการตรวจสอบเพื่อหาแหล่งที่มาของการนำเข้า เนื่องจากขยะเหล่านี้ประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้า เพราะถือว่าเป็นขยะอันตราย
พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ ลักลอบนำกากวัสดุขยะอุตสาหกรรม มาคัดแยกและแปรรูปวัสดุขยะอุตสาหกรรม โดยใช้ความร้อนในการหลอมละลายเอาสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ไปจำหน่ายต่อซึ่งขั้นตอนส่วนนี้ ส่งผลให้เกิดมลพิษอย่างรุนแรง พร้อมสั่งการให้ตรวจสอบในเรื่องการขออนุญาต และขยายผลว่า บุคคลใดเป็นเจ้าของโรงงาน ซึ่งข้อมูลตำรวจพบว่า เจ้าของโรงงานเป็นนายทุนชาวจีน เบื้องต้นคาดว่าโรงานแห่งนี้ ผิด 2 ข้อหา 1.ประกอบการแปรรูปขยะอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และ2.ไม่ปฎิบัติตามขั้นตอนและวิธีการทำลายขยะอุตสหกรรม ตาม พ.ร.บ.โรงงาน
ขณะที่ นายสุรพล ชามาตย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ พบมีการขออนุญาตดำเนินกิจการคัดแยกและบดทำลายขยะ แต่เมื่อเกิดไฟไหม้เมื่อต้นปีที่แล้วก็ทำให้ชาวบ้านละแวกนี้ตั้งข้อสังเกตถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจึงแจ้งหน่วยงานราชการเข้ามาตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าขยะเหล่านี้อันตรายไม่สามารถคัดแยกได้ หลังจากนี้จะให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาสั่งปิดโรงงานแห่งนี้ไว้ชั่วคราว เนื่องจากการตรวจสอบลักษณะของโรงงานพบว่า มีการจัดการที่ผิดสุขลักษณะ เพราะไม่สามารถเก็บมลพิษได้ และที่ผ่านมาประเทศจีน ก็ไม่อนุญาตให้มีการคัดแยกขยะอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศตัวเองด้วย
"วิธีการทำลายซากวัสดุอันตรายประเภทนี้ ต้องมีระบบการจัดการที่เป็นโรงงานปิด ต้องใช้การเผาด้วยความร้อนสูงและมีการจัดการที่ดี จึงจะสามารถคัดกรองสารมลพิษต่างๆได้ ซึ่งในประเทศไทยมีการจัดการบ่ออุตสาหกรรม ที่ถูกต้องประมาณ 3-4 บ่อ หลังจากนี้จะให้อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ทำการตรวจสอบตั้งแต่การขอใบอนุญาตประกอบโรงงาน การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ การทำลายขยะอุตสาหกรรม รวมถึงรายละเอียดทั้งหมดว่าผิดอะไรบ้าง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป" นายสุรพล กล่าว
ข่าวเกี่ยวข้อง :